คอลัมน์ หลากหลาย

หลังจากปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เด่นในปีนี้เพิ่งผ่านพ้นไปหนึ่งรายการ ได้แก่ “จันทรุปราคาเงามัว” เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 11 ก.พ. ช่วงเวลา 05.34-06.48 น

จากการจัดอันดับปรากฏการณ์ดารา ศาสตร์ที่น่าสนใจในปี 2560 โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ดร. โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. แถลงแนะนำให้ผู้สนใจติดตาม มีดังนี้

ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก

จะเกิดขึ้นวันที่ 7-8 เม.ย. โดยดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Opposition) ทำให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 667 ล้านกิโลเมตร สามารถสังเกตเห็นตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตก ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออก ตลอดทั้งคืนไปจนถึงรุ่งเช้า จะปรากฏบริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo)

ที่โชคดีไปกว่านั้นดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เราจึงมองเห็นดาวพฤหัสบดีมีความสุกสว่างได้ด้วยตาเปล่า หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็จะสังเกตเห็นแถบเมฆและจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีได้อย่างชัดเจน

ดาวเสาร์ใกล้โลก

เราจะเห็นดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Opposition) ในวันที่ 15 มิ.ย. ซึ่งดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 1,352 ล้านกิโลเมตร จึงสามารถมองเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมาก

นอกจากนี้ยังจะปรากฏบนท้องฟ้าตลอดทั้งคืน เมื่อดวงอาทิตย์ตกดาวเสาร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้า ทำให้สังเกตเห็นได้ตลอดทั้งคืน บริเวณกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus)

นอกจากนี้ จะมองเห็นระนาบวงแหวนดาวเสาร์ปรากฏเอียงทำมุมกว่า 26 องศากับระดับสายตา หากดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว หรือมีกำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตวงแหวนดาวเสาร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จันทรุปราคา-สุริยุปราคา

(เห็นชัดในต่างประเทศ)

จันทรุปราคาบางส่วนจะเกิดช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 7 ส.ค. ถึงเช้ามืดของวันที่ 8 ส.ค. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 00.22 น. และสิ้นสุดเมื่อเวลา 02.18 น. ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกมากที่สุดในเวลา 01.20 น. จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สุริยุปราคาวงแหวน ปีนี้เป็นคิวของประชาชนฝั่งซีกโลกใต้ที่จะเห็นได้ที่แนวคราสวงแหวนพาดผ่านตอนใต้และตะวันตกของทวีปแอฟริกา บางส่วนของทวีปอเมริกาใต้

ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับเวลาในไทย เวลา 19.10 น. ในคืนวันที่ 26 ก.พ. จนถึงเวลา 00.35 น. ของเช้าวันที่ 27 ก.พ.

ตามมาด้วย สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งแรก ในรอบ 38 ปี ที่แนวคราสเต็มดวงพาดผ่านกลางสหรัฐอเมริกา ตรงกับเวลาในไทย เวลา 22.46 น. คืนวันที่ 21 ส.ค. ถึงเวลา 04.04 น. ของเช้าวันที่ 22 ส.ค. แม้ว่าปรากฏการณ์เหล่านี้จะไม่สามารถเห็นได้ในไทย แต่ผู้คนให้ความสนใจและเฝ้าติดตามมากที่สุดในโลก

ฝนดาวตก

ในปีนี้ยังคงมีฝนดาวตกให้ชมกันอย่าง ต่อเนื่องเกือบทุกเดือนแต่มีอัตราการตกที่ไม่มากนัก ที่สนใจคือ ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ในวันที่ 12-13 ส.ค. (เฉลี่ย 100 ดวงต่อชั่วโมง) และฝนดาวตกเจมินิดส์ ในวันที่ 13-14 ธ.ค. (เฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง) ที่เรียกได้ว่าเป็นดาวเด่นในปีนี้ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวนจึงนับเป็นโอกาสดีในการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ในปีนี้เป็นอย่างดี

ดาวเคราะห์ชุมนุม

การกลับมาเคียงคู่กันอีกครั้งของดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีในช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ในวันที่ 13 พ.ย. ดาวศุกร์จะใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะเชิงมุม 0.6 องศา นับเป็นการเข้ามาใกล้กันของ 2 ดาวเคราะห์สว่างบนท้องฟ้าที่หาชมได้ไม่บ่อยนัก

ดวงจันทร์เต็มดวง

ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 ธ.ค. ขณะที่ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีจะเกิดขึ้นในวันที่ 9 มิ.ย.

ส่วนดวงอาทิตย์ตั้งฉากจะเห็นได้ที่จ.สงขลา ในวันที่ 8 เม.ย. ที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 27 เม.ย. โคราช วันที่ 30 เม.ย. และเชียงใหม่ วันที่ 14 พ.ค.

และยังมีวันวสันตวิษุวัต ที่เวลากลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ในวันที่ 20 มี.ค. วันครีษมายัน ที่กลางวันนานกว่ากลางคืน ในวันที่ 21 มิ.ย. ตรงข้ามกับ เหมายัน ที่กลางคืนนานกว่ากลางวัน ในวันที่ 21 ธ.ค.

สุดท้าย ศารทวิษุวัต ที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ในวันที่ 23 ก.ย.

นอกจากการรับชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เหล่านี้ได้ตามวันและเวลา ดังกล่าวแล้ว ผู้สนใจยังติดตามข่าวสารผ่านโซเชี่ยลมีเดียของสดร. ได้ตลอดทั้งปีที่ www.facebook.com/NARITpage หรือทางเว็บไซต์ www.narit.or.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน