คอลัมน์ หลากหลาย

ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับ โปรเจ็กต์ ลูน – Project Loon บอลลูนส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย กระจายเครือข่ายการเชื่อมต่อไปถึงเขตชนบทและถิ่นทุรกันดารได้ทั่วถึงทั่วโลก

ทีมโปรเจ็กต์ลูน ในสังกัดหน่วยงานห้องวิจัย เอ็กซ์ รีเสิร์ช แล็บ ของกูเกิ้ลแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุถึงความคืบหน้าก้าวสำคัญว่ามาจากการที่บอลลูนเน็ตเริ่มใช้ระบบพยากรณ์อากาศได้

นั่นหมายความว่าบอลลูนนี้จะควบคุมทิศทางและเป้าหมายให้ลอยผ่านสภาพอากาศที่เป็นใจไปจนถึงจุดหมายที่ต้องการ แทนที่จะสุ่มลอยไปทั่วโลก

แอสโตร เทลเลอร์ หัวหน้าคณะวิจัยของกูเกิ้ล กล่าวว่า เมื่อมีระบบนี้แล้ว การใช้บอลลูนจำนวนเล็กน้อยช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย อย่างมาก

“ตอนนี้เราเดินหน้าการทดลองและพยายามให้บริการในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะเจาะจงทั่วโลก โดยใช้บอลลูน 10 ลูก 20 ลูก หรือ 30 ลูก แทนที่จะใช้หลายร้อยลูกเหมือนที่ผ่านมา” เทลเลอร์กล่าว

พร้อมแจงต่อว่า ผู้ใช้จะสามารถใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจากบอลลูนเน็ตภายในไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ แต่ยังไม่เปิดเผยว่าจะเริ่มจากพื้นที่ใดก่อน

กูเกิ้ลตั้งเป้าหมายเพื่อเปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้คนทั่วโลกราว 4,000 ล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล

แทนที่จะสร้างหอส่งสัญญาณขนาดใหญ่ กูเกิ้ลเลือกใช้บอลลูนที่มีขนาดราวสนามเทนนิส เพื่อทดลองเชื่อมต่อเครือข่าย

บอลลูนเน็ตจะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศที่ระดับความสูง 17 ก.ม. พร้อมปรับระดับขึ้นลงได้ตามสภาพอากาศและเปลี่ยนทิศทางได้ จากการ เพิ่มหรือลดระดับความสูงของตัวบอลลูนเน็ต

กูเกิ้ลใช้ระบบอัลกอริทึมให้บอลลูนเน็ต เรียนรู้เครื่องจักรกล เพื่อให้พยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำพอ และมีโอกาสเลื่อนทิศทางไปยังพื้นที่เล็กเป็นเวลานาน เช่น เมื่อปีที่แล้ว บอลลูนเน็ตลอยอยู่เหนือน่านฟ้าประเทศเปรูนานถึง 3 เดือน

หลังจากช่วงปีที่ผ่านมากูเกิ้ลตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมากขึ้น จากผู้ถือหุ้นที่คุมบังเหียนมากขึ้นภาระค่าใช้จ่ายในการวิจัย มากขึ้น

เมื่อเดือนที่แล้ว กูเกิ้ลจึงนำโปรเจ็กต์ลูนเข้าสู่บริษัทใหม่ “เวย์โม” (Waymo) เพื่อก้าวไปสู่การทำเงินให้กับเทคโนโลยีชิ้นนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคงต้องใช้เวลานานมากกว่าจะสร้างรายได้

“โปรเจ็กต์ลูนเป็นโครงการวิจัยที่พัฒนาอย่างมีวุฒิภาวะมากขึ้น เมื่อเซ็นสัญญากับบรรดาบริษัทโทรคมนาคมแล้วกูเกิ้ลจึงไม่ต้องเร่งรีบเดินหน้าให้เป็นธุรกิจเชิงเดี่ยว หลายอย่างเป็นไปเกินคาด อนาคตของโปรเจ็กต์ลูนน่าจะไปได้สวยกว่าที่คิดไว้” เทลเลอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องเอาชนะ คือความน่าเชื่อถือไว้วางใจของบอลลูนเน็ตที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเอง โดยสถิติที่บันทึกว่าบอลลูนเน็ตลอยอย่างต่อเนื่องอยู่ที่เพียง 190 วัน

คณะวิจัยจากห้องปฏิบัติการสำนักงานกูเกิ้ลที่เมืองเมาน์เทน วิว รัฐแคลิฟอร์เนียพยายามจะผ่าทางตันข้อบกพร่องนี้ โดยใช้เครื่องสแกนที่มีชื่อเล่นว่า “บิลลี่ จีน” ตั้งตามมิวสิควิดีโอเลื่องชื่อของ ไมเคิล แจ๊กสัน ที่มีภาพทางเดินแสงสว่าง

ส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่พยายามทำให้บรรลุเป้าหมายคล้ายกันนั้น ได้รับการทดสอบจากกูเกิ้ลและบริษัทไอทีอื่นๆ

เมื่อไม่นานนี้เอง กูเกิ้ลปิดตัว “โปรเจ็กต์ ไตตัน” (Project Titan) ซึ่งเป็นความพยายามใช้โดรนขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเปิดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความรู้สูงในพื้นที่กว้างขวางได้ แต่ยกเลิกไปเนื่องจากเกิดปัญหาเงินทุนและเทคโนโลยี ที่ขาดแคลน

ส่วนคู่แข่งอย่าง “เฟซบุ๊ก” ก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีคล้ายกันนี้ ภายใต้ชื่อ “โปรเจ็กต์ อากีลา โดรน” ในประเทศอังกฤษ แต่ต้องชะงักไปครั้งใหญ่ หลังเกิดเหตุ เครื่องบินลำหนึ่งในโครงการตกในทะเลทรายแอริโซนา เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

สำหรับโปรเจ็กต์ลูนที่เจอปัญหาอุปสรรค มามากมาย จนคนในบริษัทหลายคนไม่คิดว่ามันจะใช้งานได้จริงๆ

“ถ้าเรารู้ว่ามันยากเย็นได้ขนาดนี้บางที เราอาจไม่พยายามเลยก็ได้” เทลเลอร์เขียนในบล็อกที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน