ค่ายปิดเทอมเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ผ่านปรากฏการณ์ PM 2.5

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

ค่ายปิดเทอมเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ผ่านปรากฏการณ์ PM 2.5 – สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ จัดกิจกรรม “โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน ค่ายเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านปรากฏการณ์ PM 2.5”

เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนระดับชั้นประถมปลายและมัธยมต้นกว่า 40 คน ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอม เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยมี นักวิทยาศาสตร์ คุณหมอนักเทคโนโลยี สร้างสรรค์กิจกรรมให้เด็กๆ สนุกเรียนรู้วิทยาศาสตร์และพัฒนาเทคโนโลยีในการป้องกัน เฝ้าระวัง ปรากฏการณ์ PM 2.5

ค่ายปิดเทอมเรียนรู้วิทยาศาสตร์

การทดลองสร้างปอดจำลอง

กิจกรรมเริ่มต้นจากการไขความลับเรื่องสายตาและปรากฏการณ์การมองเห็นสิ่ง ต่างๆ รอบตัว โดย ดร.ปิยะพัฒน์ พูลทอง นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ชวนเด็กแยกแยะสิ่งที่ดูคล้ายกันแต่จริงๆ แล้วแตกต่าง เช่น หมอก ควัน ฝุ่น เรียนรู้ว่า PM 2.5 คืออะไร สนุกกับการทดลองนำเลเซอร์มายิงผ่านฝุ่นแป้ง จะเห็นเป็นลำแสงคล้ายกับที่เห็นลำแสงแดดบนท้องฟ้าในช่วงที่มีฝุ่นละอองอยู่จำนวนมาก

หลังจากนั้นมาแกะกล่องวัด PM 2.5 ชำแหละส่วนประกอบว่าภายในเครื่องวัด PM 2.5 มีอะไร และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การกระเจิงแสงมาออกแบบสร้างเครื่อง PM 2.5

ค่ายปิดเทอมเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ช่วยกันสร้างเครื่องวัด PM 2.5

ต่อมา พญ.อติพร เทอดโยธิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พาเด็กๆ ตะลุยสู่โลกภายในร่างกายมนุษย์ว่า PM 2.5 มีผล อย่างไรต่อร่างกาย เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และการระคายเคืองต่างๆ หน้ากากและวิธีการสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกัน PM 2.5 เด็กๆ ยังทดลองผ่าตัดปอดหมู สร้างปอดจำลอง และเรียนรู้การทำงานของปอด

เมื่อเด็กๆ เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับ PM 2.5 แล้ว นายชัชวาล สังคีตตระการ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. มาชวนน้องๆ สร้างเครื่องวัด PM 2.5 ด้วยตัวเอง และสนุกกับการกระจายกำลังตั้งสถานีวัดและรายงานสถานการณ์ PM 2.5 แบบเรียลไทม์ เด็กๆ ตื่นเต้นกับการวัดและรายงานค่า PM 2.5 ที่เปลี่ยนไปเมื่อสถานีถูกกระตุ้นด้วยการจุดธูปหรือเป่าแป้งฝุ่น

ค่ายปิดเทอมเรียนรู้วิทยาศาสตร์

โชว์ผลงานเครื่องฟอกอากาศแบบง่าย

กิจกรรมนี้จบลงด้วยการให้เด็กๆ ช่วยกันลงมือประกอบเครื่องฟอกอากาศแบบง่าย ที่มีความรู้ด้านแผ่นกรองว่ามีโครงสร้างและการทำงานอย่างไร กลไกของใบพัดของพัดลมดูดอากาศต่างกับพัดลมทั่วไปอย่างไรจึงดูดอากาศเข้าไปได้ และการสั่งงานผ่านมือถือให้เครื่องฟอกอากาศทำงาน

ด.ญ.วรรณวรัณธร ทิพยวัฒน์ โครงการบ้านเรียนรุ่งอรุณ เล่าว่า ได้รับความรู้และได้ทำกิจกรรม โดยกิจกรรมที่ชอบคือการสอนวิธีสังเกตฝุ่นด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ คือการโรยแป้งใส่หมอนแล้วใช้มือตบให้ฝุ่นแป้งกระจาย จากนั้นใช้แสงเลเซอร์ยิง ฝุ่นแป้งจะทำให้เราเห็นแสงเลเซอร์เป็นลำแสงชี้ออกไป

ด้าน ด.ช.มั่งมี จินดายะพานิชย์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เล่าว่าได้รู้จัก PM 2.5 มากขึ้น และรู้ว่าต้องป้องกันอย่างไร สนุกมากที่ได้มาเข้าค่าย

คุณครูคมกริบ ธีรานุรักษ์ คุณครูโรงเรียนอนุบาลธีรานุรักษ์ กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ เผยว่ากิจกรรมครั้งนี้นำไปใช้กับเด็กอนุบาลได้ เช่น กิจกรรมฝุ่นจากหมอน สามารถนำไปประยุกต์ให้เด็กๆ เห็นฝุ่นได้ง่ายๆ แต่อาจปรับจากแสงเลเซอร์ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับเด็กๆ เป็นการใช้ไฟฉายแทน จะช่วยให้เขาตระหนักว่ารอบตัวเขามีฝุ่น

อีกกิจกรรมที่นำไปใช้ได้คือการประดิษฐ์ปอดจำลอง เด็กๆ จะได้เห็นและสัมผัสด้วยตัวเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน