‘เอ็ม-โบน’วัสดุแทนกระดูก จากงานวิจัยสู่การผลิตใช้จริง : รายงานสุขภาพ

‘เอ็ม-โบน’วัสดุแทนกระดูก จากงานวิจัยสู่การผลิตใช้จริง : รายงานสุขภาพ – “วัสดุทดแทนกระดูกสำหรับปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์” (M-Bone) ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมการแพทย์ชั้นสูง ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุน

‘เอ็ม-โบน’วัสดุแทนกระดูก

ทีมวิจัย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ สวทช. แถลงข่าวการลงนามในสัญญาอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย “วัสดุทดแทนกระดูกสำหรับปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์” ให้กับ บริษัท ออส ไฮดรอกซี จำกัด

‘เอ็ม-โบน’วัสดุแทนกระดูก‘เอ็ม-โบน’วัสดุแทนกระดูก

โดยบริษัทนี้เป็นบริษัท สตาร์ตอัพสัญชาติไทย การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยครั้งนี้ จะสร้างมิติใหม่ให้กับวงการสาธารณสุขไทย และต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช. กล่าวว่า สำหรับ ผลงานวิจัย เอ็ม-โบนนี้ เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความปลอดภัย ได้การรับรองโรงงานผลิตต้นแบบเครื่องมือแพทย์ที่ได้มาตรฐาน กำหนดขอบข่ายของระบบการบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 13485:2016 โดยครอบคลุมกระบวนการวิจัยและพัฒนา และการผลิตต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการทดสอบทางคลินิก ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลให้เกิดการขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริม ผลักดันเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน

‘เอ็ม-โบน’วัสดุแทนกระดูก‘เอ็ม-โบน’วัสดุแทนกระดูก

“งานวิจัยนี้ได้ทดสอบความเป็นพิษ ทดสอบการระคายเคือง ทดสอบการก่อให้เกิดการไข้และผลข้างเคียงที่จะมีผลต่อเนื้อเยื่อ ตลอดจนทดสอบผลที่จะมีผลต่อการสร้างการเจริญเติบโตในการสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมา โดยผลการทดสอบที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของการสร้างกระดูกใหม่ พบว่ากระดูกใหม่เกิดขึ้นตั้งแต่ 4 สัปดาห์ และเซลล์กระดูกใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 8 สัปดาห์ 12 สัปดาห์ และในสัปดาห์ที่ 16 จะเห็นกระดูกใหม่เจริญเติบโตเข้ามาในรูพรุนตรงกึ่งกลางของวัสดุทดแทน ซึ่งวัสดุทดแทนจะค่อยๆ สลายออกไป จนเห็นได้ชัดว่าเนื้อเยื่อสามารถสร้างกระดูกใหม่รอบๆ เหงือกเข้ามาทดแทนทั้งหมดภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น เร็วกว่าการปล่อยให้กระดูกคนไข้สร้างขึ้นเอง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเกิน 6 เดือนในคนไข้ทั่วไป และมากกว่า 1 ปี ในคนไข้สูงอายุ” ดร.ณรงค์กล่าว

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. กล่าวว่า เอ็ม-โบน มีจุดเด่นคือ เป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความปลอดภัย

สำหรับการนำไปใช้งานเป็นวัสดุทดแทนกระดูกเพื่อปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ มีส่วนประกอบหลักคือ ไฮดรอก ซีอาปาไทต์และไตรแคลเซียมฟอสเฟต ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของกระดูกธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถเหนี่ยวนำเซลล์กระดูกให้เจริญเติบโตในบริเวณที่มีการปลูกถ่าย หรือทดแทนได้ดี นอกจากนี้ สวทช. ยังได้ขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการเป็นสถานที่ผลิตเครื่องมือแพทย์กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว

‘เอ็ม-โบน’วัสดุแทนกระดูก

รศ.นพ.ดร.ปฐวี คงขุนเทียน ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การนำเอ็ม-โบน มาใช้ทดแทนกระดูกที่ถูกทำลายไปเนื่องจากโรคบางอย่าง เช่น ถุงน้ำ หรืออุบัติเหตุ เอ็ม-โบนให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิผล ไม่แตกต่างจากวัสดุทดแทนกระดูกของต่างประเทศ โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการปฏิกิริยาต่อต้านวัสดุฝังในและไม่เกิดอาการแพ้แต่อย่างใด

ด้าน ภก.สุรศักดิ์ นันทวิริยกุล ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท ออส ไฮดรอกซี จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนสร้างโรงงานผลิตเอ็ม-โบน ในปี 2563 เพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตและจำหน่ายในอนาคต และแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้ ปัจจุบันราคาวัสดุทดแทนกระดูก จำหน่ายในราคาที่สูง เช่น 0.5 ซีซี ราคาประมาณ 3-4 พันบาท และต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าปีละหลายร้อยล้านบาท

ดังนั้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่ต้องการศัลยกรรมช่องปาก ฝังรากเทียม หรือผู้ป่วยอื่นที่ต้องการใช้สารทดแทนกระดูก และทดแทนการนำเข้า ทางบริษัทจึงเห็นความสำคัญของงานวิจัยนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน