ซัมเมอร์แคมป์ตีโจทย์ธุรกิจ ปลุกพลัง‘สตาร์ตอัพ’วัยโจ๋

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

ซัมเมอร์แคมป์ตีโจทย์ธุรกิจ – เพื่อสนับสนุนให้น้องๆ ระดับมัธยมศึกษาที่สนใจปูพื้นฐานด้านธุรกิจเข้าร่วมรับฟังแนวคิด พร้อมฝึกตีโจทย์ วางแผนกลยุทธ์การสร้างธุรกิจและการเป็นสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จในตลาดยุคดิจิตอล สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดกิจกรรม “จัดให้แซ่ด DPU X Startup SUMMER CAMP”

ซัมเมอร์แคมป์ตีโจทย์ธุรกิจ ปลุกพลัง‘สตาร์ตอัพ’วัยโจ๋ : ไอคิวทะลุฟ้า

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่ากิจกรรมครั้งนี้เน้นเวิร์กช็อป ลงมือปฏิบัติจากโจทย์ธุรกิจที่ได้รับในหัวข้อ อาหารแห่งโลกอนาคต หรือ Food For The Future พร้อมทั้งฟังประสบการณ์ตรงจาก นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากตลาดออนไลน์ แคทตี้ รัสรินทร์ ธนะชัยวัฒนะโภคิน เจ้าของสินค้าหลากหลายแบรนด์ ก่อนที่น้องๆ จะลงสนาม Mini Pitching เวทีการแข่งขันนำเสนอไอเดียธุรกิจ โดยทีมที่ชนะเลิศได้รับรางวัลทุน การศึกษาตลอดหลักสูตรปริญญาตรี รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท

“กิจกรรมวันแรกประเดิมด้วยนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากตลาดออนไลน์ แคทตี้ เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Flat2112, Babykissthailand แผ่นน้ำหอมสำหรับใช้ในรถยนต์ยี่ห้อ TED A CAR และอีกหลายธุรกิจ มาถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาการทำตลาดออนไลน์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ในช่วงบ่ายเด็กๆ ลงมือทำอาหารที่ Chef Lab และคิดค้นคอนเซ็ปต์รูปแบบการนำเสนอไอเดียให้สอดคล้องกับโจทย์ในหัวข้อ Food For the Future

ซัมเมอร์แคมป์ตีโจทย์ธุรกิจ ปลุกพลัง‘สตาร์ตอัพ’วัยโจ๋ : ไอคิวทะลุฟ้า

วันที่สอง น้องๆ เรียนรู้การทำธุรกิจเชิงลึกมากขึ้นจากอาจารย์วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ในแง่การมองโอกาสทางธุรกิจผ่านปัญหาของกลุ่มลูกค้า การแก้ปัญหาให้ลูกค้า การหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงเวิร์กช็อปการสร้างแบรนด์และเพิ่มมูลค่าให้สินค้าหรือบริการ ด้วยทักษะการออกแบบที่สอนโดยอาจารย์จากคณะศิลปกรรมโดยตรง น้องๆ นำเสนอไอเดียสุดครีเอตโดยการลงมือขีดเขียนผ่านโปรแกรม Good Note ในไอแพด” รองอธิการบดีกล่าว

ทีมชนะเลิศจาก Mini Pitching รับเงินทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท พร้อมทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีฟรีตลอดหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทีม “อะจ๊วง” จากโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยา จ.ปทุมธานี ประกอบด้วย นายพีระ เพิ่มพูน (พี) น.ส.พรปวีณ์ ปิติทิพยพัฒน์ (แอมเวย์) และ นายชยานันท์ พิลึก (นิว) ร่วมกันเสนอไอเดียกล่องพิซซ่าลดโลกร้อน

พี นายพีระ เพิ่มพูน ตัวแทนทีมอะจ๊วง กล่าวว่า เลือกทำกล่องพิซซ่าลดโลกร้อนภายใต้แบรนด์ NAP BOX โดยปัญหาของลูกค้าคือกล่องเก็บความร้อนไม่ได้นาน จึงคิดทำสินค้าเพื่อตอบโจทย์แก้ไขปัญหานี้

การเป็นสตาร์ตอัพทุนมีไม่มาก จึงตั้งเป้าหมายแค่กลุ่มลูกค้าร้านขายพิซซ่ากลุ่มเดียวก่อนขยายฐานลูกค้าภายหลัง ตัวกล่องประกอบด้วยกระดาษและฟอยล์เก็บความร้อน นำมาเรียงเป็น 3 ชั้น เพื่อเก็บความร้อน โดยกล่องสามารถนำมารีไซเคิลโดยให้ลูกค้าส่งคืนกลับมา เน้นการรักษาสภาพแวดล้อมถือเป็นโปรดักส์รักษ์โลก

“สิ่งที่เราคิดจะได้ประโยชน์ถึง 3 ฝ่ายด้วยกัน คือสร้างจิตสำนึกร่วมรักษ์โลกให้ผู้บริโภคของแบรนด์ที่เราเป็นซัพพลายเออร์ให้ ตัวลูกค้าของเราเองก็มีภาพของสินค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และเมื่อตัวสินค้าขายดีขึ้นเราเองก็จะได้ยอดขายเพิ่มตามไปด้วย การนำกล่องมารีไซเคิลนอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้วยังช่วยลดต้นทุนของเราด้วย สินค้าก็จะมีราคาไม่แพงและขายได้ปริมาณมากขึ้น” น้องพีกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน