คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

เมธาวี มัชฌันติกะ

ในด้านพลังงาน แน่นอนว่ารัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจหนึ่ง ด้วยยอดส่งออก “น้ำมัน” อันดับ 2 ของโลก อุดมไปด้วยแหล่งพลังงานสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งน้ำมัน แก๊ส

อย่างไรก็ตามรัฐบาลรัสเซียกลับมีนโยบายวางแผนให้เกิดการบริโภคพลังงานลดลง และหาแหล่งพลังงานทางเลือกมาใช้หมุนเวียนทดแทน

ที่เห็นได้ชัดคือการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำจากทะเลทางตอนเหนือของประเทศเป็นอันดับ 3 ของโลก และยังมี นโยบายขยายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เพิ่มขึ้น มีการใช้พลังงานลมแต่ก็ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในแถบยุโรป

ด้วยความน่าสนใจนี้ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พาคณะสื่อมวลชนร่วมศึกษาดูงานที่ประเทศรัสเซีย เพื่อศึกษาแนวทางเรื่องการทำพลังงานสะอาดเพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดในธุรกิจบางจาก ที่ให้ความสำคัญในเรื่องธุรกิจสีเขียวในการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยเข้าฟังการบรรยายของบริษัทที่ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เฮเวล เจเนรัล (Hevel General company) และสมาคม ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม แห่งรัสเซีย

หลายคนอาจแปลกใจว่าอย่างประเทศรัสเซียซึ่งอยู่แถบหนาวจะผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างไร เพราะสภาพอากาศของประเทศรัสเซียนั้นอยู่ในโซนที่สูงกว่าเส้นศูนย์สูตรปีหนึ่งมีแดดไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะมีเมฆมากครึ้ม แดดออกน้อยกว่า 250 วัน และตั้งแต่เดือนตุลาคม-เมษายน แทบไม่มีแดดเลย

แต่รัสเซียกลับมีความพยายามส่งเสริมให้เกิดการผลิตพลังงานจากแสงแดดโดยตั้งเป้าหมายว่าปี ค.ศ. 2020 จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ถึง 1.5 กิกะวัตต์จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตประมาณ 200-300 เมกะวัตต์

ตัวแทนจาก เฮเวล เจเนรัล ระบุว่า แม้ว่ารัสเซียจะมีแหล่งพลังงานมหาศาล แต่ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและหมดไปได้และประเมินว่าไม่น่าจะเกิน 50-100 ปีนี้ จึงจำเป็นต้องวางแผนและคิดว่าจะหาพลังงานอะไรมาทดแทน ซึ่งแม้ว่ารัสเซียเองจะมีพลังงานปรมาณูทำให้มีแหล่งพลังงานที่มั่นคง แต่จากเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้าฟูกูชิมะ ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ทำให้เกิดความกังวลขึ้นในวงกว้างเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องสร้างทางเลือกขึ้น

แนวทางของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของเฮเวล คือการลงทุนในศูนย์วิจัยซึ่งอยู่ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เพื่อคิดค้นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์ โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Hetero Junction Technology หรือ HJT

HJT เป็นการผสมผสานระหว่าง โซลาร์เซลล์ชนิดผลึก (Crystalline Silicon -c-Si) แบบที่ประเทศไทยใช้อยู่ และโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง (Thin-film) ซึ่งการวิจัยในห้องแล็บพบว่าได้ประสิทธิภาพแผงโซลาร์ประมาณ 26% ที่ถือเป็นค่าประสิทธิภาพที่อยู่ในระดับสูงมากเมื่อดูจากแผงของประเทศไทยที่มีค่าประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 14%

เทคโนโลยีแบบใหม่นี้ยังทำให้แผงโซลาร์เซลล์รับแสงแดดได้องศารอบด้านกว่า ไม่จำกัดว่าต้องเป็นแสงแดดแบบตรงๆ เท่านั้น ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นใช้พื้นที่ลดลง ปัจจุบันต้นแบบของโรงงานไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ที่เทือกเขาอัลไต มีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์

แนวทางการใช้พลังงานสะอาดของรัสเซียนั้น มีหลายรูปแบบทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ การผลิตแบบเคลื่อนที่ และการผลิตแล้วเก็บพลังงานไว้ปล่อยให้ใช้ภายหลังซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจอย่างมาก

แหล่งพลังงานทางเลือกที่ใช้มากที่สุด คือ พลังงานน้ำ พบว่า บริษัทรัสไฮโดร (RusHydro) บริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย มีกำลังการผลิต 38,900 เมกะวัตต์ ทั้งยังลงทุนในแหล่งพลังงานทดแทนอีกกว่า 90 แห่งที่อยู่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย

ด้วยความที่รัสเซียมีภูมิประเทศกว้างใหญ่ไพศาล มีพื้นที่ห่างไกลอยู่จำนวนมาก จึงไม่มีคุ้มที่จะลากสายไฟไปถึง การสร้างพลังงานทางเลือกในลักษณะนี้จึงทำให้ประชากรอีกเกือบ 20 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสได้ใช้ไฟทุกวันสามารถเข้าถึงพลังงานได้

สำหรับ พลังงานลม สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมประเทศรัสเซียกล่าวว่ายังพัฒนาไม่มากนัก จึงเกิดแนวทางการสนับสนุนให้เกิดพลังงานทางเลือก คือ มีการรวมกลุ่มกันเป็นสมาคมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีสมาชิกประมาณ 60 กว่าบริษัท และเปิดให้สมาชิกเข้ามาประมูลโดยดูจากเงินลงทุน อีกทั้งกำหนดว่าต้องใช้ชิ้นส่วนและเทคโนโลยีจากในประเทศรัสเซียคิดเป็น 65% เพื่อให้เกิดการพัฒนาภายในประเทศขึ้น

นโยบายเหล่านี้เน้นให้เกิดพลังงานทางเลือกที่สะอาดและไม่ได้สนับสนุนเพื่อมาฆ่าอุตสาหกรรมเก่า แต่เป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มขึ้น

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก ปิโตรเลียม ซึ่งร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ มองว่า การขยายธุรกิจและหาพลังงานทางเลือกนั้นทำให้จำเป็นต้องเดินทางมาดูจากศึกษาวิจัย เทคโนโลยี ของประเทศต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นว่ามีการพัฒนาไปอย่างไรบ้างและหากต้องนำมาใช้จะปรับใช้อย่างไร

เช่น เรื่องแผงโซลาร์เซลล์ที่มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ขึ้น หรือ เทคโนโลยีการเก็บพลังงานไว้ใช้ อย่างไฮบริดโซลูชั่น ซึ่งประเทศไทยนำไปปรับใช้ได้กับพื้นที่ห่างไกล หรือแก้ปัญหาช่วงพีกโหลด หากหาวิธีผลิตและเก็บกักไฟไว้ได้ เป็นต้น

“เทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อยๆ ทำให้ต้นทุนถูกลงและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเชื่อว่าอนาคตจะมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นกว่านี้ ซึ่งพลังงานเหล่านี้คงไม่สามารถมาทดแทน หรือแทนที่พลังงานจากฟอสซิลได้ แต่จะทำให้เรามีพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนมากขึ้น อาจจะต้องมีการมองไปถึงเรื่องการพัฒนากักเก็บพลังงานไว้ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้พลังงานสูงขึ้นไปอีก โดยพบว่าบางประเทศมีการใช้พลังงานน้ำซึ่งใช้ระบบพลังน้ำทะเล หรือนำน้ำวนกลับมาใช้ซ้ำไม่ปล่อยทิ้งไป จึงต้องมีการคิดกระบวนการเหล่านี้ให้มากขึ้น” นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับบางจากให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งการลงทุนใหม่ๆ 300 ล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มเป็น 500 ล้านบาทต่อปีในปีนี้ เพื่อกล้าลองผิดลองถูก หากไปดูงานวิจัยทั่วโลกจะพบว่า 9 ใน 10 จะล้มเหลว ดังนั้น เงินส่วนนี้ก็จะถูกกันมาเพื่อให้พนักงานของบางจากร่วมคิดร่วมทำ ให้บริษัทก้าวหน้าด้วย

ที่แน่ๆ อย่างหนึ่งที่เห็น คือ ประเทศรัสเซียไม่หยุดที่จะพัฒนาและวิจัยสิ่งใหม่ๆ รัฐบาลให้การสนับสนุนพลังงานทางเลือกเหล่านี้อย่างจริงจัง แม้ว่าประเทศจะเป็นมหาอำนาจทางด้านพลังงานอยู่แล้วก็ตาม แต่กลับคิดถึงอนาคตเพื่อทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น

เชื่อว่าคนไทยก็คงรอคอยการมีแนวทางและนโยบายที่ก้าวหน้าด้านพลังงานแบบนี้เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน