คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

จากกระแสสังคมและไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่หันมาให้ความสำคัญกับการมีธุรกิจของตนเอง หรือสานต่อธุรกิจของครอบครัว

นายภูดิศ เลิศศันสนะ ทายาทธุรกิจร้านขนม “น้อย เบเกอรี่” ย่านพระราม 2 เป็นหนึ่งในนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ที่มุ่งสานต่อธุรกิจครอบครัว จึงเลือกศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่จะช่วยต่อยอดทางความคิดโดยอิงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สู่การพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์

ภูดิศ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วตอนที่ต้องเลือกศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนตัวแล้วไม่ได้ประสบปัญหาในการเลือกคณะ เนื่องจากมีเป้าหมายแน่วแน่ที่ต้องการศึกษาต่อในสาขาที่สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจที่บ้านได้ เป็นธุรกิจร้านขนม “น้อย เบเกอรี่” ที่ก่อตั้งมากว่า 37 ปี

“จากที่สังเกตพฤติกรรมพบว่าผู้บริโภคยุคปัจจุบันต้องการขนมที่กินง่าย พกพาสะดวก แต่แฝงคุณประโยชน์ครบครัน เช่น ขนมกินแล้วขับถ่ายสะดวก ไม่อ้วน ในช่วงแอดมิชชั่นจึงค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้จนพบโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีสาขา เฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์อาหารและเทคโนโลยี”

ภูดิศกล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนการสอนแบ่งเนื้อหาสาระออก เป็น 2 ด้านสำคัญ คือ

1. ด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีเนื้อหาภาคทฤษฎีครอบคลุมด้านเคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยา ควบคู่ไปกับการเน้นหนักในภาคปฏิบัติ ผ่านการทดลองใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ โดยเน้นหลักไปที่การทดลองที่นำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ เช่น การตรวจหาสารเคมีในสิ่งแวดล้อมหรือในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และการทดลองผสมจุลินทรีย์ลงในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อยืดอายุหรือเพิ่มคุณค่าทางอาหาร

2. ด้านบริหารจัดการทางพาณิชยศาสตร์ ที่เน้นสอนการประยุกต์ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ สู่การต่อยอดธุรกิจ วางแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับเงินทุน โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ.

รวมถึงอาจารย์พิเศษจากหน่วยงานภายนอก อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด และบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่มาร่วมสอนและแชร์ประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย พร้อมทั้งยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าชมกระบวนการทำงานจริงของบริษัท

จากระยะเวลา 2 ปีที่ได้เรียนมา ประทับใจในรายวิชาด้านวิทยาศาสตร์อย่างวิชาปฏิบัติการเคมีและชีววิทยาทั่วไป เพราะ เป็นเนื้อหาที่นำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาธุรกิจเบเกอรี่ของครอบครัว และจุดประกายแนวความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ รวมถึงกิจกรรมเวิร์กช็อปการวางแผนพัฒนาธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงจุด

เช่น ในกรณีที่ต้องการผลิตขนมรูปแบบใหม่เพื่อขยายกลุ่ม ผู้บริโภคอาจต้องสำรวจตลาดเป้าหมายให้แน่ชัดก่อนว่า ผู้บริโภคชื่นชอบขนมในรูปแบบใด โดยอาจทำเป็นขนมชิ้นเล็กๆ ให้ชิมก่อนหน้าร้าน เพื่อทดสอบตลาด ควบคู่ไปกับลดการสิ้นเปลืองเงินทุนที่เกินความจำเป็น

“หลังศึกษาจบระดับปริญญาตรี ตั้งใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการตลาด ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเติมเต็มความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร รวมทั้งด้านบริหาร ให้พร้อมกลับมาต่อยอดธุรกิจโรงงานเบเกอรี่ของครอบครัวเป็นลำดับต่อไป” ภูดิศทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน