เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก สเป๊กทรงพลังเอาใจเกมเมอร์

คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

โดย… จันท์เกษม รุณภัย

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก สเป๊กทรงพลังเอาใจเกมเมอร์ – เดลล์ จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊กสุดทรงพลังจากค่ายเดลล์ สหรัฐอเมริกา กลับมาอีกครั้งในปี 2562 กับการปรับโฉมและสเป๊กใหม่ เอาใจคอเกมเมอร์ที่ต้องการพลังเต็มเปี่ยมในการเล่นเกมแบบจริงจังได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผลกลาง

และกราฟิกรุ่นล่าสุดจอภาพสว่างล้ำ อัตรารีเฟรชสูงสุด 144 เฮิร์ตซ์ (Hz) ภายใต้รูปทรงสปอร์ตบึกบึน สนนราคาที่ 59,990 บาท

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

ด้วยราคาระดับนี้ สเป๊กของจี 7 ต้องเรียกว่าแรงสมราคาด้วยหน่วยประมวลผลกลาง หรือซีพียู Intel Core i7-8750H เป็นซีพียูแบบ 6 หัว (เฮกซะ-คอร์) ติดตั้งเทคโนโลยีไฮเปอร์-เธรดดิ้ง รองรับการประมวลผลได้สูงสุด 12 เธรด มีสัญญาณนาฬิกาฐาน 2.20 เฮิร์ตซ์

และสัญญาณนาฬิกาเทอร์โบสูงสุด 4.10 GHz บนสถาปัตยกรรมการผลิตขนาด 14 นาโนเมตร

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

ติดตั้งหน่วยความจำแรมแบบ DDR4 DRAM สัญญาณนาฬิกา 2,666 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) ความจุ 16 กิกะไบต์ (GB) ทำงานบนโหมด Dual-channel ช่วยเพิ่มแบนด์วิธความจำได้สูงสุดถึง 41.8 กิกะไบต์ต่อวินาที (GB/s) เพื่อรองรับโปรแกรมขนาดใหญ่

พร้อมหน่วยประมวลผลกราฟิก หรือ จีพียู NVIDIA GeForce RTX 2070 แบบ Max-Q ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบายความร้อนสูงสุด และรองรับเกมที่ต้องใช้กราฟิกหนักๆ ระดับ AAA บน เรโซลูชั่นและอัตรารีเฟรชสูงด้วย VRAM มากถึง 8 GB

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

ย้ำท้ายประสิทธิภาพความลื่นไหลในการโหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ ด้วยหน่วยเก็บข้อมูล SSD แบบ M.2 ขนาด 512 GB ที่ทำงานเชื่อมต่อข้อมูลบนเทคโนโลยีล่าสุด NVMe รันด้วยระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ของแท้ จากค่ายไมโครซอฟท์

สเป๊กเครื่องของจี 7

สาเหตุหนึ่งที่สเป๊กเครื่องของจี 7 ต้องแรงมากขนาดนี้ นอกจากศักดิ์ศรีความเป็นโน้ตบุ๊กเล่นเกมแล้ว เป็นเพราะจอภาพของจี 7 นั้นมีความพิเศษตรงที่รองรับอัตรารีเฟรชภาพ(refresh rate) ได้ถึง 144 Hz เทียบเท่าจอมอนิเตอร์ระดับไฮ-เอนด์ โดยจอภาพคอมพิวเตอร์ทั่วไปปัจจุบันนั้นจะอยู่ที่ 60 Hz หมายความว่ามีอัตราการเกิดภาพ 60 ครั้งใน 1 วินาที

แต่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า มอนิเตอร์นั้นเป็นเพียงแค่ตัวแสดงภาพเท่านั้น ฮาร์ดแวร์โดยทั่วไปแล้วในคอมพิวเตอร์ทำงานไม่สามารถผลักดันการสร้างภาพได้ถึงขีดสุดของจอภาพเหล่านี้

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

อัตรารีเฟรชภาพที่จอของจี 7 รองรับสูงถึง 144 ภาพต่อวินาที จึงต้องอาศัยฮาร์ดแวร์ที่ทรงพลังอย่างมาก ซึ่งทั้งจอภาพและฮาร์ดแวร์ต้องมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับเดียวกัน เช่น หากฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูงแต่จอภาพรองรับแค่ 60 Hz ก็จะได้เฟรมเรตไม่เกิน 60 เฟรมต่อวินาที (fps)

ต่อให้จอรองรับถึง 144 Hz แต่ฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพต่ำ เครื่องก็ไม่สามารถให้ภาพถึง 144 fps ได้ โดยเฉพาะเมื่อเล่นเกมที่กินกราฟิกสูงๆ จีพียูจะยิ่งต้องทำงานหนัก และเกิดความร้อนมหาศาล

จอภาพของจี 7 มีขนาด 15.6 นิ้ว เรโซลูชั่นแบบ Full-HD (1,920 x 1,080 พิกเซล) ถือว่าเหมาะสมกับการเล่นเกม เป็นหน้าจอ LCD แบบ IPS ที่ให้ความสว่างสูงสุดได้เพียงพอต่อการใช้งานทั้งในและนอกอาคาร

การทดสอบพบว่า จอภาพมีเงาสะท้อนน้อยซึ่งถือเป็นผลดีต่อการใช้งาน และให้สีสันที่ค่อนข้างฉูดฉาด ด้วยความที่รองรับอันตรารีเฟรชภาพมากถึง 144 Hz ทำให้การเล่นเกมนั้นรู้สึกได้ถึงความลื่นไหล เพิ่มความมันแก่การเล่น

เป็นไปได้ว่าการออกแบบขอบจอด้านล่างอาจทำให้บางคนไม่ชอบความหนาที่แลดูขัดตา ทางเดลล์น่าจะพิจารณาทำโน้ตบุ๊กเล่นเกมขอบจอบางๆ ดูบ้าง

อย่างไรก็ตาม การที่มีขอบล่างหนานั้นชดเชยด้วยการทำให้จอภาพขยับขึ้นไปด้านบน เวลาเล่นก็ไม่ต้องก้มคอมาก อาจจะทำให้ไม่เมื่อยคอง่าย

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

กล่าวถึงการออกแบบทั่วไปของจี 7 ต้องชมเชยว่าดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนมาก ความรู้สึกทั่วไปสัมผัสแล้วรู้สึกได้ถึงความเต็มเปี่ยมของประสิทธิภาพผ่านลักษณะบึกบึนของเครื่อง บ่งบอกถึงการใช้งานระดับซีเรียส

อย่างแรกเป็นการเปลี่ยนมาใช้วัสดุอะลูมิเนียมเป็นหลัก พื้นผิวรมดำขัดด้านตัดด้วยโลโก้เดลล์สีน้ำเงินสะท้อนแสง แลดูหล่อเหลาคมเข้ม จุดหมุนของจอภาพสร้างเอกลักษณ์ให้เมื่อเปิดจอขึ้นมาแล้วยังมีขอบด้านหลังของเครื่องเหลือด้านล่างพร้อมตรา G7 สีเงินตัดพื้นดำสะท้อนเพิ่มความเท่

แผงระบายความร้อนของจี 7 อยู่ที่มุมขอบด้านบนทั้งสองข้างของเครื่อง โดยจากการทดสอบพบว่า การระบายความร้อนนั้นทำได้มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม แต่เสียงพัดลมถือว่าค่อนข้างดังมาก ทั้งยังมีเรื่องของความร้อนบริเวณแผงเหนือแป้นพิมพ์ซึ่งใต้นั้นเป็นตำแหน่ง ของฮีตซิงก์แน่นอน บางครั้งอาจเกิดความร้อนสูง

แนะนำว่าให้ใช้ความระมัดระวังอย่าไปแตะต้องมาก และไม่แนะนำอย่างยิ่งให้ใช้เล่นเกมบนตัก (ซึ่งคงไม่มีเกมเมอร์คนไหนทำ) เพราะด้วยความที่เล่นเกมจริงจัง จี 7 ออกแบบมาให้วางบนโต๊ะแล้วใช้งานมากกว่า และด้วยน้ำหนักถึง 2.4 กิโลกรัม ขนาดกว้าง 10.8 ยาว 14.4 หนา 0.8 นิ้วแล้ว ไม่เหมาะกับการใส่เป้แบกไปงานภาคสนาม น้ำหนักขนาดนี้ถ้าแบกทั้งวันไหล่พังแน่ๆ ใส่กระเป๋าไว้เคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนจะเหมาะสมกว่า

จี 7 มาพร้อมกับฟังก์ชันการเชื่อมต่ออย่างจุใจ อาทิ Wi-Fi แบบ dual-band รองรับทั้งความถี่ 2.4 (รัศมีไกล แบนด์วิธต่ำกว่า) และ 5.0 GHz (รัศมีใกล้ แบนด์วิธสูงกว่า) สัญญาณ Bluetooth และช่องเชื่อมต่อ ได้แก่ Thunderbolt 3, USB 3.1 และช่องใส่หูฟังแบบมินิแจ๊กขนาด 3.5 มิลลิเมตร ที่ขอบด้านซ้าย ส่วนอีกด้านมี USB 3.1 และ SD card reader

ยังไม่หมด! ยังมี Ethernet, Mini DisplayPort, USB 3.1, HDMI และปลั๊กไฟ ที่ขอบด้านหลังด้วย พร้อมช่อง Noble lock ถือว่าครบเต็มพิกัด น่าเสียดายที่จี 7 ยังไม่รองรับ Wi-Fi 6 ซึ่งเป็นมาตรฐานความเร็วใหม่ของ Wi-Fi

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

ด้านการควบคุมนั้นเริ่มที่แป้นพิมพ์ของจี 7 ซึ่งมาพร้อมกับไฟ RGB แบ๊กไลต์แบบฟูลไซซ์ แต่ปุ่มไม่มีภาษาไทย ผู้ทดสอบพบว่าไม่ค่อยชอบประสบการณ์การพิมพ์งานด้วย จี 7 แม้ระยะห่างของปุ่มจะออกมาได้เหมาะสม และความลึกของปุ่ม ตลอดจนความนุ่มอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ปุ่มค่อนข้างเล็ก ด้วยความที่เป็นแป้นพิมพ์ฟูลไซซ์

ต่อมาเป็นทัชแพด จุดนี้เป็นอะไรที่น่าแปลกใจที่สุด โดยเฉพาะตำแหน่งชองทัชแพดซึ่งค่อนไปทางซ้ายค่อนข้างมาก ทำให้มือซ้ายของผู้ใช้แทบไม่มีที่พักมือ โดยเฉพาะเมื่อเล่นเกมที่ต้องใช้ปุ่ม WASD เป็นหลักในการเคลื่อนที่ทำให้เมื่อยมือง่าย และไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร

หากลืมปิดทัชแพดก็จะทำให้สันมือด้านในไปโดนทัชแพดและเกิดอาการเมาส์ลั่นกลางเกมได้ เดลล์น่าจะพิจารณาย้าย ทัชแพดกลับไปไว้กึ่งกลางจะดีกว่า

ส่วนเรื่องขนาดความกว้าง ความไว และความแม่นยำของทัชแพดนั้นค่อนข้างดี บริเวณที่พักมือก็แข็งแรงไม่บุ๋มง่ายทำให้วางมือได้อย่างมั่นคง ส่วนที่แถบด้านบนซึ่งเป็นสีดำสะท้อนแสงนั้นกึ่งกลางมีปุ่มเปิดปิดที่ทำงานเป็นเซ็นเซอร์ลายนิ้วมือได้ในตัว พบว่าทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำดี

ลําโพงสเตอริโอของจี 7

อยู่ที่มุมล่างทั้งสองด้านหันเข้าหาผู้ใช้ คุณภาพเสียงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เบสลูกเล็กแต่กระชับ เสียงกลางนุ่ม เสียงสูงออกหวานไม่แหลมบาดหู ลักษณะเสียงออกแนวพุ่งเข้าหาผู้ใช้ (in-the-face) เวทีเสียงค่อนข้างกว้างและมีมิติแนวลึกสูง เหมาะกับการฟังเพลง แต่ผู้ใช้มองว่าเสียงควรดังกว่านี้อีกเล็กน้อย เพราะจากการทดสอบชมภาพยนตร์ยังพบว่ามีปัญหาเรื่องไม่ค่อยได้ยินคำสนทนา ต้องนั่งชมในที่เงียบจริงๆ ถึงรู้เรื่อง

ประสิทธิภาพของจี 7

ถือว่าเลิศ รองรับเกมระดับ AAA ได้อย่างหายห่วง ยกตัวอย่างเกม Shadow of the Tomb Raider บนกราฟิกสูงสุด พบว่า เบนช์มาร์กเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 44 fps ถือว่าห่างไกลจากที่จอรองรับ แต่ตามนิสัยของเกมเมอร์ที่เอาจริงจังแล้วมักจะยอมลดกราฟิกเพื่อแลกกับอัตราเฟรมเรตที่สูงสร้างความได้เปรียบเล็กๆ น้อยๆ กับคู่ต่อสู้ที่เป็นมนุษย์ได้ ยกตัวอย่างเกมแนวเดินยิงบุคคลที่สามที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง Tom Clancy’s Division 2 ผลการทดสอบเบนช์มาร์กอยู่ที่ประมาณ 55 fps เรียกว่าเล่นได้ดีเลยทีเดียว

เกมออนไลน์ชื่อดังอย่าง Final Fantasy XIV Shadowbringers ที่กำลังจะเปิดตัวสิ้นเดือนนี้ จี 7 ก็เล่นได้สบายๆ เช่นกัน

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

เกมนี้แม้เป็นเกมจ่ายรายเดือนแต่มีผู้เล่นทั่วโลกลงทะเบียนทะลุ 16 ล้านคนไปแล้ว และเพิ่งสร้างสถิติผู้เล่นออนไลน์พร้อมกันทั่วโลกทะลุ 1 ล้านคน จนกำลังกลายเป็นเกม MMORPG ดาวรุ่งเกมใหม่ที่ถูกจับตาว่าจะเทียบเท่า World Of Warcraft หรือ WOW ในไม่ช้า ได้คะแนนเบนช์มาร์กเกือบๆ เท่าคอมพิวเตอร์พีซีระดับไฮเอนด์

อย่างไรก็ดี ข้อเสียเปรียบที่สุดของจี 7 อยู่ที่ระยะเวลาการใช้งาน เพราะจากการทดสอบเล่นเกมที่ความสว่างสูงสุดพบว่าอยู่ได้เพียง 2 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น หากพิมพ์งานเล่นอินเตอร์เน็ตทั่วไปก็อาจนานกว่านั้นเล็กน้อย ถือว่าต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง Legion Y7000 ของ Lenovo และ ROG GU501 จาก ASUS

เดลล์จี 7 เกมมิ่งโน้ตบุ๊ก

โดยสรุปแล้ว จี 7 (2019) เป็นการต่อยอดความสำเร็จที่ ยอดเยี่ยมของโน้ตบุ๊กเล่นเกมของเดลล์ แม้ตำแหน่งทัชแพดจะค่อนไปทางซ้ายเกินไป เสียงลำโพงที่ควรดังได้มากกว่านี้สัก เล็กน้อย และเรื่องความร้อนที่ด้านบนแป้นพิมพ์ เสียงพัดลมที่ดังเกินไป รวมถึงระยะเวลาแบตเตอรี่ที่เสียเปรียบคู่แข่ง ตลอดจนราคาที่สูง

แต่จี 7 ชดเชยทั้งหมดนี้ด้วยประสิทธิภาพสูงแบบสุดลิ่มทิ่มประตู การออกแบบที่หล่อเหลาบึกบึน หน้าจอที่รองรับอัตรารีเฟรชภาพสูงถึง 144 Hz ทำให้จี 7 เป็นหนึ่งในโน้ตบุ๊กเล่นเกมที่เหล่าเกมเมอร์ไม่ควรมองข้าม วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน