แชมป์ RDC 2019 เตรียมสู้ศึกนานาชาติ

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

แชมป์ RDC 2019 – ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ โครงการพัฒนาทักษะการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ ปี 2562

แชมป์ RDC 2019 เตรียมสู้ศึกนานาชาติ : สดจากเยาวชน

ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 12 (The 12th Robot Design Camp 2019 : RDC 2019) ภายใต้แนวคิด “Robot for a Greener Planet” มีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 88 คน จาก 32 สถาบันการศึกษา มาแบ่งแบบคละสถาบันเป็นทีม ทีมละ 4 คน รวม 22 ทีม เพื่อคัดเลือกตัวแทนทีมประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ International Design Contest RoBoCon 2019 : IDC RoBoCon 2019 ระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-9 ส.ค.นี้ ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศิริวรรณ ตัณฑเวชกิจ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายฝึกฝนทักษะและพัฒนาความสามารถด้านการออกแบบและสร้าง หุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม ด้วยรูปแบบการจัดแข่งขันเป็นทีมแบบคละสถาบันเพื่อเรียนรู้การทำงานเป็นทีม มีการวางแผน ออกแบบ และการทำงานอย่างเป็นระบบ เหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการ เตรียมความพร้อมบุคลากรด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพ

แชมป์ RDC 2019 เตรียมสู้ศึกนานาชาติ : สดจากเยาวชน

สำหรับ RDC 2019 มีการตั้งชื่อทีมเป็นชื่อสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ เนื่องจากโจทย์การแข่งขันในปีนี้จำลองสถานการณ์การขนส่งระบบรองเพื่อพาผู้ โดยสารที่อยู่ตามบ้านหรือตามจุดรับ-ส่งต่างๆ ไปยังสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดได้อย่างสะดวก ประหยัด และรวดเร็ว

ทีมผู้เข้าแข่งขันจะต้องออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ 2 ชนิด คือ หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Auto Robot) และหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (Manual Robot) หุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่จัดเตรียมไว้ให้และต้องดีไซน์ หุ่นยนต์ให้เสร็จภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์

โดย Manual Robot จะปฏิบัติภารกิจเก็บลูกบอลซึ่งเป็นตัวแทนของคนจากหน้าบ้านไปยังสถานีรถไฟฟ้า ที่ใกล้ที่สุด ในขณะที่ Auto Robot เปรียบเสมือนรถไฟฟ้าที่วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางภายในระยะ เวลาที่กำหนด

การแข่งขันดำเนินไปอย่างเข้มข้นจนวินาทีสุดท้ายทีม “สถานีสิรินธร” คว้าแชมป์ RDC 2019 ไปในที่สุด

4 สุดยอดเยาวชนทีม “สถานีสิรินธร” ร่วมบอกเล่าภายหลังการแข่งขัน เริ่มจาก อ้น นายดำรงฤทธิ์ แทบทาม หนุ่มวิศวะอารมณ์ดีจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี บอกเล่าว่า “ตื่นเต้นและดีใจมากกับชัยชนะ แต่ที่ดีใจกว่าคือการได้มาเข้าแคมป์เรียนรู้และพัฒนาความรู้ความสามารถไป พร้อมกับเพื่อนๆ

แชมป์ RDC 2019 เตรียมสู้ศึกนานาชาติ : สดจากเยาวชน

ซึ่งต่างคนต่างความคิด ต่างที่มา ต่างพื้นฐานและมุมมอง แต่เรามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ที่ดีและตอบโจทย์ต่อระบบการขนส่งมวลชนทาง รางให้ได้มากที่สุด เราจึงต้องเปิดใจ พยายามพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล เคารพและเชื่อมั่นสมาชิกในทีม

ด้าน ธี นายหัฏฐะเนตร วิรุฬห์ศรี หัวหน้าทีม “สถานีสิรินธร” จากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าว่า “การแข่งขันครั้งนี้พวกเราต้องออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์ที่เอื้อประโยชน์ต่อ ระบบขนส่งสาธารณะทางราง ต้องมีขนาดความจุที่พอดี มีความสมดุลของโครงสร้างโดยรวม โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ

คือหุ่นยนต์ Auto เป็นตัวแทนรถไฟฟ้าสาธารณะที่ทำหน้าที่วิ่งส่งผู้โดยสารจากสถานีต้นทางไปยัง สถานีปลายทาง ด้วยการเคลื่อนที่โดยมอเตอร์และการวางระบบเซ็นเซอร์ให้สมส่วน ตรงกับลายเส้นเซ็นเซอร์ของสนามแข่ง พร้อมจูนค่า PID ควบคุมความเร็วมอเตอร์ให้พอดี ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป

สำหรับหุ่นยนต์ Manual ต้องอาศัยการบังคับควบคุมด้วยมือ ทีมเราดีไซน์ออกมาเป็นหุ่นยนต์ชื่อว่า ‘ชบาแก้ว’ ได้รับแรงบันดาลใจจากช้างที่ใช้งวงกวาดไปโดยรอบเพื่อหยิบจับอาหารมาเป็นไอ เดียในการดีไซน์หุ่นยนต์จับลูกบอล ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่คณะกรรมการมีให้ เช่น อะครีลิก ไม้อัด เหล็กฉาก อะลูมิเนียม และอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายมากครับ”

อีกหนึ่งหนุ่มในทีมโปรตอน นายพัทธกานต์ เลิศปัญญาวิทย์ อนาคตวิศวกรมืออาชีพจากรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า “เป็นงานหนักที่ท้าทาย เราเจอปัญหามากมายทั้งเรื่องการออกแบบ กลไก รูปแบบต่างๆ ที่ไม่เวิร์กบ้าง เราก็แก้ไขใหม่ ช่วยกันระดมความคิด เน้นการทดสอบไปพร้อมกับการลงมือทำ เทคนิคที่ทำให้ชนะคิดว่าอยู่ที่การทำงานเป็นทีมเวิร์ก

ปิดท้ายที่สาวน้อยหนึ่งเดียวในทีม ขนุน น.ส.ดวงกมล สายะบุตร สาววิศวะจากรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความรู้สึกในฐานะตัวแทนประเทศไทยที่จะไปเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับ นานาชาติว่า ดีใจและภูมิใจมาก หลังจากนี้พวกเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งเรื่องภาษาอังกฤษ การปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อน วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ตลอดจนฝึกฝนทักษะความรู้ ความสามารถ ทำการบ้านในเรื่องเทคนิคกลไกต่างๆ

“จะทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยอย่างเต็มที่ ตั้งใจเรียนรู้และแบ่งปันเทคนิคความรู้จากเพื่อนต่างชาติให้มากที่สุด เพื่อนำมาประยุกต์สำหรับการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ต่อไปในอนาคต ขอฝากเพื่อนๆ คนไทยช่วยกันเชียร์และส่งกำลังใจให้พวกเราด้วยนะคะ” ขนุนกล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน