ความฝันหนุ่มสาววิศวะมหิดล

สร้างนวัตกรรม งานวิจัยช่วยสังคม

ความฝันหนุ่มสาววิศวะมหิดล สร้างนวัตกรรม งานวิจัยช่วยสังคม – อาเซียนเป็นพลังของความหลากหลายของผู้คน เชื้อชาติ วัฒนธรรม และทรัพยากร ผนึกมิตรภาพความสัมพันธ์ และการเชื่อมต่อ 10 ประเทศ มีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก

คาดกันว่าในอีกไม่นานเศรษฐกิจดิจิตอลของอาเซียนจะติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ในด้านการศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างคน พัฒนาประเทศในอาเซียน เชื่อมต่อกัน ในแต่ละปีจึงมีหนุ่มสาวชาวอาเซียนเดินทางมาศึกษาต่อในประเทศไทยจำนวนมาก

ลองไปฟังความฝันของ 4 หนุ่มสาว หลักสูตรวิศวกรรมโยธา นานาชาติ ในรั้วคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เริ่มที่ นายธนายุต วัฒนประเสริญกูล หรือ แคมป์ หนุ่มเมืองชลบุรี วัย 25 ปี ผู้มีฝันที่จะเปลี่ยนสังคมด้วยนวัตกรรม เผยว่า รู้สึกภูมิใจครับที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนและได้จัดประชุมผู้นำอาเซียนซัมมิต ต้อนรับ 10 ประเทศ ผมชอบคำพูดหนึ่งที่ว่า วิศวกรรมเปลี่ยนโลก อาเซียนวันนี้และอนาคตจะขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี

ความฝันหนุ่มสาววิศวะมหิดล

ธนายุต วัฒนประเสริญกูล

จากเดิมเราเดินทางด้วยรถทางถนนกับเครื่องบิน แต่เดี๋ยวนี้ระบบรางเข้ามาช่วยพัฒนาระบบขนส่งเมืองและระหว่างเมืองมากขึ้น ในอนาคตจะมีไฮเปอร์ลูปเป็นอีกทางเลือก

ที่นี่ผมได้รับทุนการศึกษา 60 ปี ของรัชกาลที่ 9 ตลอดการศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทวิศวกรรมโยธา นานาชาติที่คณะวิศวะมหิดล ชีวิตช่วงศึกษาที่คณะวิศวะมหิดล ผมรู้สึกอบอุ่นด้วยมิตรภาพจากเพื่อนนานาชาติในอาเซียน Eco-System ที่นี่ช่วยกระตุ้นให้เราคิดสร้างสรรค์และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ในอนาคตผมอยากเป็นวิศวกรออกแบบอาคารสูงที่เด่นด้วยดีไซน์ ใช้พลังงานสะอาดและวัสดุใหม่ๆ ที่ทำให้อาคารและเมืองน่าอยู่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความฝันหนุ่มสาววิศวะมหิดล

ซัมดานี่ อาซาด

นายซัมดานี่ อาซาด หนุ่มวัย 25 ปี จากบังกลาเทศ ดินแดนริมอ่าวเบงกอลที่กำลังก้าวเป็นฮับผลิตอุปกรณ์แก๊ดเจ็ตแห่งหนึ่งของโลก เผยว่า “มุ่งมาเรียนที่ประเทศไทย เพราะได้ยินมาแต่เด็กจากคุณพ่อ ซึ่งเป็นวิศวกรอยู่บริษัท เชฟรอน พูดถึงประเทศไทยว่าเป็นแดนแห่งรอยยิ้ม คนไทยมีน้ำใจอารี

ผมเลือกมาเรียนวิศวกรรมโยธาที่วิศวะมหิดล เพราะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยและมีความเป็นสากล ถึงจะเป็นสังคมที่แตกต่างจากบ้านผมทั้งศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม แต่ถือเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่ดีที่สุดของผมเลยครับ แวดล้อมด้วยอาจารย์ที่ดี เพื่อนคนไทยและหลายประเทศ ผมยังได้ไปร่วมงานประชุม-สัมมนาระดับนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัย

ตื่นเต้นที่ได้เจอตัวจริงนักวิชาการชื่อดัง ที่ผมเคยอ่านผลงานของเขา อย่างเช่น ศาสตราจารย์ไลน่า (Leina), ศาสตราจารย์คาร์ลอส เกอเดส โซอาเรส ความประทับใจอีกอย่าง คือได้ร่วมทีมทำวิจัย กับมหาวิทยาลัยในเครือ European Union เรื่องการประเมินอายุการใช้งานของโครงสร้างฐานรากเสาเดี่ยวนอกชายฝั่งเมื่อพิจารณาผลการกัดกร่อนร่วมกับความล้า แล้วนำผลงานไปเสนอในงานประชุมแผ่นดินไหวแห่งเอเชีย(Asian Earthquake)

โดยได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น และเป็นประโยชน์ต่อการทำฟาร์มพลังงานลมในชายฝั่งทะเล และแท่นสำรวจขุดเจาะก๊าซ-ปิโตรเลียมในเอเชียด้วย ประสบการณ์ที่ได้รับจากเมืองไทย ผมจะนำไปใช้พัฒนาสังคมและประเทศครับ”

ความฝันหนุ่มสาววิศวะมหิดล

วาย เพียว ลิน

นายวาย เพียว ลิน หรือ สตีเฟน หนุ่มน้อยจากประเทศเพื่อบ้านเมียนมา วัย 23 ปี ที่มาใช้ชีวิตในเมืองไทยตั้งแต่ปริญญาตรี คุยให้ฟังถึงการใช้ชีวิตและศึกษาในประเทศไทยว่า มองว่าในอนาคตอาเซียนจะยิ่งเจริญก้าวไกล ด้วยคนรุ่นใหม่ จากความเข้าใจกันและกัน ผสมผสานความแตกต่างอย่างลงตัว ให้เป็นพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่

การมาศึกษาต่อป.โทที่วิศวะมหิดล ผมสนุกกับการทำโครงการที่สร้างสรรค์ร่วมกับเพื่อนๆ มีชาวไทย 3, ภูฏาน 1, เมียนมา 4, บังกลาเทศ 1 และเนปาล 1 ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ผมทำวิจัยเรื่อง การคำนวณต้นทุนโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทในประเทศไทย ที่นี่สอนให้ผมใช้เทคโนโลยีดิจิตอลทางวิศวกรรมที่ก้าวหน้า

อย่างเช่น ซอฟต์แวร์ BIM ช่วยในการจำลองออกแบบ โปรแกรม PRIMAVERA วางแผนและทดสอบ และโปรแกรม คำนวณ ต่างช่วยประหยัดเวลาและมีประสิทธิภาพมาก

ด้าน นางสาวสุภานี จริตไทย หรือ อิน นักศึกษาสาวไทยในบุคลิกสดใสและเปี่ยมพลัง มองว่าวิศวกรยุคใหม่ต้องมี Life-Long Learning เรียนรู้ตลอดชีวิต และไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาทักษะความรู้ เพราะการสร้างนวัตกรรมต้องใช้พหุศาสตร์มาเปลี่ยนแปลงพัฒนาแทบทุกธุรกิจอุตสาหกรรม อินได้ร่วมทำวิจัยโครงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าศาลายา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สวทช.เป็นเมืองในฝันที่จะนำความเจริญก้าวหน้า การคมนาคมขนส่งและสิ่งแวดล้อม ที่ดีสู่ชุมชนศาลายา

ความฝันหนุ่มสาววิศวะมหิดล

ในอนาคตอินอยากจะทำงานบริหารงานก่อสร้าง ซึ่งในบ้านเราและภูมิภาคอาเซียนยังต้องมีโครงการก่อสร้าง ทำอย่างไรจะดีไซน์อาคารให้เข้ากับลักษณะของพื้นที่ ประหยัดพลังงาน ทันสมัยและปลอดภัย สอดคล้องวิถีชีวิตชุมชนและมิติความยั่งยืน มหิดลเป็น กรีน ยูนิเวอร์ซิตี้ Green University ที่ร่มรื่น ทันสมัย มีการศึกษาที่เปิดกว้าง ทำให้คนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์และแก้ไขปัญหา

“อยากใช้พลังเล็กๆ ของเราและเพื่อนๆ ช่วยเหลือสังคมค่ะ อินเคยไปสอนหนังสือเด็กกำพร้าบ้านหทัยรักษ์ ใกล้คลองสามวา รู้สึกได้เลยว่าการศึกษาจะช่วยสร้างชีวิตและอนาคตที่ดีให้กับเด็กๆ อีกมากค่ะ”

“ขอเป็นกำลังใจให้หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ไปให้ถึงฝัน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน