เด็กไทยเจ๋ง คว้ารางวัลชนะเลิศ 2 สาขาจากการประกวดโครงงานวิทย์ฯ อาเซียน ASPC 2019 ร.ร. สตรีระนอง จากผลงาน “เครื่องคัดแยกขวดอัตโนมัติ” ส่วน ร.ร.จุฬาภรราชวิทยาลัย ปทุมธานี จากผลงาน “การศึกษาวงจรชีวิตพฤติกรรมของด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด”

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นางกรรณิการ์ เฉิน รอง ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า อพวช. ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 5 (The 5TH ASEAN Student Science Project Competition (ASPC 2019)

มีเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – 6 หรือเทียบเท่า จากกลุ่มประเทศอาเซียน 8 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ เวียดนามและไทย รวม 84 คน นำผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ จำนวน 44 โครงงาน เข้าร่วมประกวดแข่งขัน

โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีว ภาพ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ผลปรากฏว่าเยาวชนไทยจากโรงเรียนสตรีระนอง ที่ส่งโครงงาน “เครื่องคัดแยกขวดอัตโนมัติ” เข้าประกวดคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์

เยาวชนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรราชวิทยาลัย ปทุมธานี จากโครงงาน “การศึกษาวงจรชีวิต พฤติกรรมบางประการและบทบาทเชิงนิเวศวิทยาของด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด” คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้รับทุนการศึกษา 12,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายกรปรินทร์ ธเนศนราธร จากโรงเรียนสตรีระนอง อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาโครงงาน ว่า เครื่องคัดแยกขวดอัตโนมัติ” เครื่องนี้จะสามารถแยกขวดได้อย่างอัตโนมัติ รวดเร็ว และแม่นยำ โดยตัวเซ็นเซอร์และตัวควบคุมขนาดเล็กในการคัดแยกขวดทั้ง 4 ประเภท คือ แก้ว กระป๋อง ขวดพลาสติกขุน และขวดพลาสติกใส่

ทั้งนี้เพื่อลดเวลาในการคัดแยกขวด และลดขยะในโรงเรียน ในอนาคตตนอยากจะผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในชุมชนและสังคม เพื่อการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและลดปัญหาลดอีกด้วย

ด้านนายนฤพัฒน์ ยาใจ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี อธิบายถึงแนวคิดในการพัฒนาโครงงาน ว่า การศึกษาวงจรชีวิต พฤติกรรมบางประการและบทบาทเชิงนิเวศวิทยาของด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด”

เกิดจากตนเองและเพื่อน ๆ สนใจด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด แต่เมื่อหาข้อมูลการวิจัยจึงพบว่ามีค่อนข้างจำกัด จึงทำการศึกษาแมลงชนิดนี้ ตั้งแต่วงจรชีวิต พฤติกรรมการเคลื่อนไหว การกิน การผสมพันธ์ และศึกษาลักษณะทางกายภาพของด้วงเต่าผักบุ้งลายจุด เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล สำหรับนักกีฏวิทยาหรือผู้ที่มีความสนใจในกีฏวิทยาในอนาคต

รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ์ กล่าวว่า การได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนความคิด สร้างเสริมประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ได้สร้างเครือข่ายของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ถือเป็นรางวัลที่มีค่ากับเยาวชนทุกคน หวังว่าโครงงานที่เยาวชนได้พัฒนาขึ้นจะถูกพัฒนาต่อไปและถูกนำมาใช้งานจริง เพื่อพัฒนาประชาคมอาเซียนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน