กันน้ำแข็งละลาย

คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

กันน้ำแข็งละลาย – เลสลี ฟิลด์ จากไอซ์ 911 องค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไร ผู้วิจัยและค้นหาวิธีชะลอภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จากสหรัฐอเมริกา เปิดเผยความคืบหน้าโครงการลดการละลายของธารน้ำแข็งในพื้นที่อาร์กติก บริเวณขั้วโลกเหนือ ภายหลังเจ้าหน้าที่ไอซ์ 911 นำทรายแก้ว หรือกลาสบีด ขนาดเล็กจิ๋วไปโปรยลงบนธารน้ำแข็ง เพื่อให้สะท้อนแสงแดดจากดวงอาทิตย์และชะลอการละลายนั้น

กันน้ำแข็งละลาย

ปรากฏว่าเฉลี่ยแล้วเพิ่มการสะท้อนแสงกลับได้ที่ร้อยละ 15-20 ช่วยลดอุณหภูมิที่ พื้นผิวธารน้ำแข็งลงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ลดอุณหภูมิเหนือผิวน้ำทะเลได้ถึง 3 องศาเซลเซียส จากการสะท้อนแสงที่ร้อยละ 5 และเพิ่มความหนาของน้ำแข็งได้สูงสุด 20 นิ้ว

เมื่อเปรียบเทียบพื้นผิวน้ำแข็งที่ไม่มีกลาสบีด กับพื้นผิวน้ำแข็งที่ปกคลุมด้วยกลาสบีด พบว่าน้ำแข็งที่สะสมนาน 1 ปีจะมีอัตราการสะท้อนกลับของแสงแดดที่ร้อยละ 30 ส่วนน้ำแข็งมีกลาสบีดสะท้อนที่ร้อยละ 45

แม้จะน้อยกว่าการสะท้อนแสงของน้ำแข็งที่สะสมหลายปีซึ่งมีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 80 แต่การสัมผัสกับแสงอาทิตย์โดยตรงทำให้น้ำแข็งละลายเร็วกว่า เมื่อเทียบกับน้ำแข็งที่มีกลาสบีดปกคลุม ทั้งนี้ หลายฝ่ายยังกังวลว่าวิธีดังกล่าวจะสร้างปัญหาให้กับสภาพแวดล้อมและชุมชน

แต่ไอซ์ 911 อธิบายว่ากลาสบีดมีผล กระทบน้อยมากๆ เพราะในธรรมชาติก็มีซิลิกา หรือซิลิคอนไดออกไซด์ สารประกอบของซิลิคอนและออกซิเจนอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน