เมื่อวันที่ 20 เม.ย. เอเอฟพีรายงานว่า นายธีโอดอร์ ยูร์ชิคิน อายุ 58 ปี นักบินอวกาศชาวรัสเซีย และนายแจ๊ก ฟิชเชอร์ อายุ 43 ปี นักบินนาซ่ามือใหม่ชาวอเมริกัน เดินทางสู่อวกาศด้วยยานอวกาศนานาชาติ โซยุซ เอ็มเอส-04 ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว เป็นการเดินทางออกไป 2 คนคู่แรกในรอบกว่า 10 ปี จากปกติที่มักไป 3 คน

ยานเดินทางออกจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศไบโคนูร์คอสโมโดรม ในประเทศคาซัคสถาน ในสภาพอากาศสว่างไสว ที่เวลา 07.13 น. ตามเวลามาตรฐานโลก

Russia’s Soyuz MS-04 spacecraft / AFP PHOTO / Kirill KUDRYAVTSEV

องค์การอวกาศรอสคอสมอสของรัสเซียระบุว่า การปล่อยยานครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ และคาดว่าลูกเรือทั้งสองจะถึงสถานีอวกาศนานาชาติเวลา 13.23 น. ตามเวลามาตรฐานโลก

เมื่อถึงสถานีอวกาศทั้งสองมีภารกิจต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน 5 เดือน และจะเข้าร่วมกับนักบินอวกาศอีก 3 คน รวมถึงน.ส.เพ็กกี้ วิตสัน ผู้บัญชาการสถานีอวกาศ ที่ห้องปฏิบัติการการโคจร เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่าน.ส.วิตสันใช้เวลาอยู่ในอวกาศทำลายสถิติวันสะสมในอวกาศของนายเจฟฟ์ วิลเลียมส์ นักบินอวกาศชาวอเมริกันที่ทำไว้ 534 วัน

AFP PHOTO / Kirill KUDRYAVTSEV

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐพร้อมด้วยน.ส.อิวานกา ทรัมป์ ลูกสาวเตรียมยินดีต่อความสำเร็จของน.ส.วิตสันผ่านทางโทรศัพท์จากโลกไปยังอวกาศในวันจันทร์ที่ 24 เม.ย.
นอกจากการทำลายสถิติดังกล่าวแล้ว น.ส.วิตสันยังกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่รับหน้าที่บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติเป็นครั้งที่สอง โดยทำหน้าที่ดังกล่าวครั้งแรกต่อจากนายยูร์ชิคินเมื่อปี 2550

น.ส.วิตสันจะกลับสู่โลกในต้นเดือนก.ย.ปีนี้ พร้อมกับนายฟิชเชอร์และนายยูร์ชิคิน หลังนาซ่าตัดสินใจขยายเวลาให้น.ส.วิตสันอยู่ในอวกาศต่ออีก 3 เดือน

ครั้งนี้ส่งนักบินอวกาศไปเพียง 2 คน จากปกติ 3 คน เพราะต้องลดต้นทุน ก่อนการติดตั้งยานหรือโมดุลใหม่ภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า เพื่อขยายส่วนของห้องปฏิบัติการการโคจรของรัสเซีย

ก่อนเดินทางทั้งสองให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์นาซ่า นายฟิชเชอร์ วัย 43 ปี อดีตนักบินกองทัพอากาศ กล่าวว่า คิดถึงพ่อขณะเดินทางเข้าสู่อวกาศ เพราะเมื่อครั้งที่พ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ยังกล่าวให้กำลังใจตนว่าให้สานต่อความฝันที่อยากเป็นนักบินอวกาศให้สำเร็จ

AFP PHOTO / Kirill KUDRYAVTSEV

ส่วนนายยูร์ชิคิน ผู้มีประสบการณ์ท่องอวกาศ ใช้เวลา 537 วันในอวกาศ ทำกว่า 4 ภารกิจในสถานีอวกาศ มากกว่านักบินอวกาศอเมริกันคนไหนๆ แต่ในส่วนของระยะเวลาในอวกาศเป็นรองเพียงเพื่อนร่วมชาติอย่างนายเจนเนดี ปาดัลกา ใช้เวลา 879 วัน

ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการของสถานีอวกาศกำลังโคจรรอบโลกด้วยความเร็วราว 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตั้งแต่ปี 2541 เป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างประเทศของสหรัฐกับรัสเซียที่หาได้ยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน