วันที่ 21 เม.ย. เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ และนิวยอร์กไทมส์ รายงานผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ว่า ตัวตุ่นหนูไร้ขน สัตว์ฟันแทะชนิดหนึ่ง สามารถอยู่ได้ในภาวะไม่มีออกซิเจนนานถึง 18 นาที เมื่อเปรียบเทียบกับหนูทั่วไป หากปล่อยไว้โดยไม่มีออกซิเจน จะตายภายใน 20 วินาที

เดิมทีเจ้าตุ่นหนูไร้ขนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แทบได้ชื่อว่าแปลกพิลึกที่สุดในโลกอยู่แล้ว กล่าวคือ มันไม่เป็นมะเร็ง มีภูมิคุ้มกันทนต่อความเจ็บปวดได้ยาวนาน พริกไทยเผ็ดๆ ก็ไม่ระคายเคืองผิว ใช้ชีวิตคล้ายแมลง

ตัวราชินีตุ่นหนูไร้ขนอยู่ใต้ดินออกลูกหลาน สร้างอาณาเขตยุ่บยั่บ หนูมีชีวิตอยู่ได้สูงสุด 3 ปีแต่เจ้าตุ่นหนูไร้ขนตัวที่แก่ที่สุดอายุยืนยาว 32 ปีทีเดียว

ตุ่นหนูไร้ขนเติบโตในอากาศที่มีออกซิเจนบางเบาได้ แม้ในระดับที่หากให้หนูหรือมนุษย์ไปอยู่อาจถึงตายได้ โดยเมื่อขาดแคลนออกซิเจนมันก็เปลี่ยนแหล่งพลังงานในตัวจากน้ำตาลกลูโคสไปเป็นฟรุกโทสแทน เหมือนที่พืชใช้ ซึ่งต่างกับมนุษย์ รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆจะใช้กลูโคส

Roland Gockel/Max Delbruck Center for Molecular Medicine

นายโธมัส ปาร์ก นักผู้วิจัย เชี่ยวชาญด้านตุ่นหนูไร้ขน มหาวิทยาลัย อิลลินอยส์ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทดลองให้มันอยู่โดยก๊าซออกซิเจนร้อยละ 0 ทำให้ตัวตุ่นหนูไร้ขนหยุดการเคลื่อนไหวชั่วคราว หัวใจเต้นลดลงจาก 200 ครั้งต่อนาทีเหลือ 50 ครั้งต่อนาที ตัวตุ่นไร้ขนสามารถมีชีวิตอยู่ได้สูงสุดถึง 18 นาที โดยระบบประสาทไม่มีเสียหาย

New York Times

ด้านน.ส. เจน เรซนิกก์ นักชีวโมเลกุล ผู้วิจัยร่วม กล่าวว่า จากการวิเคราะห์เนื้อเยื่อจากสมองและหัวใจของมัน พบโมเลกุลของฟรุกโทสอยู่เต็มร่างกายของตุ่นหนูไร้ขน

ทั้งนี้ กลูโคส กับฟรุกโทสเป็นน้ำตาลเหมือนกัน แต่สิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนน้ำตาลฟรุกโทสให้เป็นพลังงานนั้น ได้แก่ พืช และเจ้าตุ่นหนูไร้ขนก็ทำได้แบบเดียวกันดังกล่าว มันไม่ต้องการออกซิเจนในกระบวนการเผาผลาญทางร่างกายที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม กรณีเจ้าตัวตุ่นหนูไร้ขนยังคงเป็นปริศนาต่อไป นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ว่าน้ำตาลฟรุกโทสมาจากไหน ต้องศึกษาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน