สวทช.จับมือม.แม่โจ้เดินหน้า BCG โชว์มะเขือเทศ 2 พันธุ์ใหม่

สวทช.จับมือม.แม่โจ้เดินหน้า BCG โชว์มะเขือเทศ 2 พันธุ์ใหม่ – “สวทช. – วิทย์สัญจร วิจัยเข้มแข็ง เสริมแกร่งภูมิภาค: นวัตกรรมสร้างสรรค์ พันธมิตรร่วมใจ ล้านนาก้าวไกล ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นงานใหญ่อีกงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

จัดที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา มีนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานพร้อมกับกล่าวเปิดว่า ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วย BCG Economy Model ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่มุ่งการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาคการเกษตรและอาหารเป็นหลัก มีเป้าหมายใช้ BCG พัฒนาภูมิภาคให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ และให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปในภูมิภาคอาเซียน

ขณะที่ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช. กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่ประกาศให้ปี 2563 เป็นปีแห่งเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Year สวทช.จึงนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปสร้างให้เศรษฐกิจในทุกกลุ่มสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งมิติด้านการเกษตรนับเป็นหนึ่งในมิติที่สำคัญในการขับเคลื่อน BCG โดยสวทช.ได้เข้าไปช่วยชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานในภูมิภาคอย่างเข้มแข็งและจริงจัง ด้วยกลไกขับเคลื่อนใน 4 ด้าน คือ การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเตรียมกำลังคน การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ และการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้น แนวหน้า

การจัดงานครั้งนี้ สวทช.ยังเปิดตัวโครงการสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อชุมชน (CTAP) เพื่อยกระดับรายได้ ลดรายจ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มศักยภาพของกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนให้เกิดการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในโครงการ “การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน” ระหว่าง ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กับ ผศ.พาวิน มะโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดี ม.แม่โจ้ และได้นำสื่อมวลชนไปดูแปลงวิจัยลำไย ที่ทำการทดสอบการใช้เทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศเพื่อการเกษตร และระบบการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน ผ่าน Smart IoT รวมถึงเยี่ยมชมแปลงทดสอบผลิตมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ของสวทช. ในระบบเกษตรอินทรีย์

ความร่วมมือของสองหน่วยงานนี้ น.ส. วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผอ.สวทช. และผอ.สถาบันจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ให้รายละเอียดว่า มีแผนจะทดสอบและขยายผลเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ

แบ่งเป็น 1.ฟาร์มเปิด จุดแรกคือ แปลงวิจัยลำไยมีเทคโนโลยีของสวทช. คือ เทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบ IoT เพื่อการเกษตร โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน ซึ่งได้นำ Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้บริหารจัดการแปลงลำไยให้ได้คุณภาพ

2. การผลิตภายใต้สภาพโรงเรือน มีการทดสอบเทคโนโลยีโรงเรือนตั้งแต่ต้นทุนต่ำ ไปจนถึงโรงเรือนอัจฉริยะ ตลอดจนถึงระบบการผลิตในระบบอินทรีย์ ทั้งในส่วนของการผลิตเมล็ด การผลิตผักสดและผลิตสมุนไพร โดยใช้สถานที่ที่ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบการผลิตมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ของสวทช. ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของดร.อรวรรณ ชัชวาลการพาณิชย์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ร่วมกับบริษัท ที เค อาร์ แอนด์ ดี จำกัด โดยพัฒนาพันธุ์มะเขือเทศรับประทานสดผลเล็กพันธุ์ PC3 (A9) และ PC11 ที่ต้านทานโรคไวรัสใบหงิกเหลืองมะเขือเทศ ทดลองปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์และเก็บข้อมูลผลผลิตเมล็ดพันธุ์

ในส่วนของเทคโนโลยีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบ Smart IoT ผศ.ดร.วินัย วิริยะอลงกรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้ แจกแจงว่า ในแปลงวิจัยมีการติดตั้งระบบ แม่ข่าย 1 จุด และลูกข่าย 10 จุด บนพื้นที่ 70 ไร่ ครอบคลุมแปลงลำไย มะม่วง มะคาเดเมีย โดยแม่ข่าย ประกอบด้วยเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศ

เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ เซ็นเซอร์วัดความเข้มแสง เซ็นเซอร์วัดความชื้นดิน อุปกรณ์วัดความเร็วลม อุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝน ขณะที่ลูกข่ายประกอบด้วย เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอากาศ เซ็นเซอร์วัดความชื้นอากาศ เซ็นเซอร์วัดความเข้มแสง และเซ็นเซอร์วัดความชื้นดิน ซึ่งข้อมูลจากระบบฯ ใช้ติดตามสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมเพื่อช่วยบริหารจัดการแปลงปลูกได้

ส่วนระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน ติดตั้งที่แปลงลำไยอินทรีย์ พื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งได้ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยเรื่องลำไยที่ศึกษามากว่า 15 ปี เป็นตัวกำหนดโปรแกรมการให้น้ำอัตโนมัติ พบว่าการติดดอก การเจริญเติบโต และผลผลิตของลำไยที่ได้สมบูรณ์กว่าแปลงที่ให้น้ำแบบทั่วไป (ให้น้ำเมื่อเห็นว่าดินแห้ง) ผลผลิตลำไยเฉลี่ย 63 ก.ก./ต้น (ทรงพุ่ม 3 เมตร)

ด้านแปลงทดสอบสายพันธุ์มะเขือเทศ ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร ม.แม่โจ้ ให้ข้อมูลว่า ศูนย์การเรียนรู้การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักเกษตรอินทรีย์ ม.แม่โจ้ เป็นอีกหนึ่งแปลงทดสอบการปลูกมะเขือเทศต้านโรคไวรัสใบหงิกเหลืองพันธุ์ PC3 (A9) และ PC11 โดยทดสอบผลิตเมล็ดพันธุ์และผลสดในโรงเรือนด้วยระบบเกษตรอินทรีย์

ซึ่งหลังจากทำการทดลองปลูกไปจนถึงช่วงผลมะเขือเทศสุก ในช่วง 120 วัน พบว่าทั้ง 2 สายพันธุ์รสชาติดี เนื้อแน่น นับเป็นสายพันธุ์มะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ที่จะเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรและผู้บริโภค ที่เน้นการกินผลสด ทั้งนี้คาดว่าศูนย์ จะผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ที่มีคุณภาพให้แก่เกษตรกรได้ภายในปีนี้ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้มีความหวานแตกต่างกันเล็กน้อย

สื่อมวลชนหลายแขนงที่ไปทำข่าวในแปลงมะเขือเทศพันธุ์ใหม่นี้ ต่างชิมกันคนละหลายลูก และพูดตรงกันว่ารสชาติดี หวาน ไม่มาก สีสวย กรอบ แถมออกลูกดกมาก ที่สำคัญกลิ่นไม่แรงเหมือนมะเขือเทศทั่วไป อีกไม่ช้าเกษตรกรคงจะได้ปลูกมะเขือเทศที่รอการตั้งชื่อใหม่อย่างเป็นทางการ และเชื่อว่าน่าจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คน ทั้งที่ชอบและไม่ชอบมะเขือเทศแน่นอน

 

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน