คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ศึกษาพฤติกรรมการกินของนักเรียนระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา โดยแต่ละวันจะติดป้ายที่ถาดเมนูผักแตกต่างออก ตัวอย่างเช่น แครอต ลวกธรรมดา แครอตคัดพิเศษเพื่อสุขภาพ และแครอตลวกราดซอสมะนาว ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นแครอตลวกธรรมดาเหมือนเดิมทุกวัน จากนั้นเปรียบเทียบปริมาณการบริโภคตลอด 1 เทอม

พบว่ามีนักเรียน 8,279 คน จากทั้งหมด 27,933 คน เลือกตักเมนูผักประจำวัน เมื่อทีมวิจัยติดป้ายแครอตลวกราดซอสมะนาว จะมีนักเรียนเลือกตักผักเพิ่มขึ้นจากป้ายแครอตลวกธรรมดาที่ร้อยละ 25 และมากกว่าป้ายแครอตคัดพิเศษเพื่อสุขภาพถึงร้อยละ 35 ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าฉลากระบุสินค้า โดยเฉพาะสินค้าสำหรับบริโภค ถือว่ามีความสำคัญมากต่อการตัดสินใจ เพราะกระตุ้นให้ผู้บริโภคสร้างจินตนาการ รวมถึงตั้งความคาดหวังสูงเมื่อเห็นป้ายที่มีข้อความน่าสนใจ

เช่นเดียวกับการวิจัยน้ำดื่ม หากฉลากระบุเป็นน้ำแร่ น้ำเปล่าธรรมดาในขวดกลับอร่อยและให้ความสดชื่นขึ้นมาแม้ก่อนหน้านี้จะดื่มน้ำชนิดเดียวกัน แต่ระบุเป็นน้ำเปล่าจากโรงงานก็ตาม นักวิจัยยังกล่าวอีกว่า การทดลองซึ่งชี้ชัดว่าฉลากอาหารมีอิทธิพลต่อจิตใจนั้น สามารถนำไปต่อยอดใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการเลือกกินผักผลไม้ของเด็กๆ อย่างได้ผล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน