คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

มัธธาณะ รอดยิ้ม รายงาน

สนุกเข้มข้นอีกปีกับการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 มีเหล่าเยาวชนจากหลายสถาบันมาร่วมชิงชัย รวมแล้ว 220 คนจาก 30 สถาบันทั่วประเทศ

การจัดการแข่งขันครั้งนี้มีขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ทักษะความสามารถของเยาวชนไทยด้านการศึกษาเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติและระบบอัตโนมัติ รวมทั้งค้นหาเยาวชนเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ หรือ IDC RoBoCon 2560 ที่ประเทศจีน ช่วงวันที่ 6-19 สิงหาคม ปีนี้เจ้าภาพเป็นมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ตั้งอยู่ภาคตะวันออกของจีน

งานนี้จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ในฐานะประธานจัดการแข่งขัน กล่าวถึงการแข่งขันว่า ปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง จึงได้ใช้เวทีการแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 เพื่อเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เยาวชนไทยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น

“ผู้เข้าแข่งขันจะได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะด้านการสร้างและออกแบบหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรม และเรียนรู้การทำงานเป็นทีมตลอดจนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยสร้างและผลักดันให้เกิดบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต” ดร.จุลเทพกล่าว

การแข่งขันครั้งนี้ใช้หัวข้อรัชกาลที่ 9 กับการเกษตร เพื่อให้เยาวชนได้ประสบการณ์จริงจากต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้วยการเกษตรที่ยั่งยืนทฤษฎีใหม่ตามแนวทางพระราชดำริและการทรงงานของพระองค์

การแข่งขันรอบคัดเลือกแบ่งเป็นภูมิภาค ประกอบด้วยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก และภาคใต้ ตั้งแต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนเหลือผู้เข้ารอบสุดท้าย 18 คนจาก 4 ทีม ประกอบด้วยทีมฝนหลวง ทีมเขื่อนดิน ทีมพอเพียง และทีมกังหัน

ชิงชนะเลิศกันที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกฎกติกาการแข่งขันในปีนี้ ว่าจำลองปัญหาการเกษตรแบบพื้นที่ราบสูงจากจังหวัดน่านมาเป็นสนามแข่งขัน ซึ่งพื้นที่จะมีทั้งพื้นราบและราบสูงเชิงเขามีปัญหาเรื่องการขนส่งน้ำขึ้นไปทำการเพาะปลูก

นอกจากนี้ปีนี้ผู้จัดพานักศึกษาไปสัมผัสพื้นที่จริงมาเพื่อนำมาเป็นพื้นฐานในการออกแบบหุ่นยนต์ และเพื่อให้อิสระในการทำงาน จึงไม่มีการกำหนดขนาดและจำนวนของหุ่นยนต์ในแต่ละทีม เพื่อจะได้ออกแบบให้เหมาะกับภารกิจต่างๆ

สำหรับการแข่งขัน ทุกทีมมีเวลาแข่งขันเพียง 150 วินาที ที่จะต้องบังคับหุ่นยนต์ให้ไปกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกรวม 10 ต้น ก่อนจะลงมือปลูกต้นกล้าทั้งบนพื้นราบและเนินสูงอย่างน้อย 20 ต้น และต้องขนลูกปิงปองที่เป็นตัวแทนของน้ำจำนวนต้องสัมพันธ์กับต้นกล้าที่ปลูก ขึ้นไปเก็บไว้บนพื้นที่ด้านบนของสนามซึ่งจำลองเป็นสระกักเก็บน้ำ

หลังจากนั้นทำปุ๋ยหมักจากวัชพืชที่ถอนทิ้งร่วมกับมูลวัวที่อยู่ในส่วนเลี้ยงสัตว์จึงจะเกิดคะแนน

 

นอกจากนั้นอาจทำ Bingo เพื่อชัยชนะได้ด้วย โดยทีมใดกำจัดวัชพืชทั้งหมด ปลูกพืชบนพื้นราบและเนินอย่างน้อย 20 ต้น และมีบนเนิน 3 ต้น เก็บลูกปิงปอง (น้ำจากแม่น้ำ) ไปไว้ในสระได้ 20 ลูก และทำปุ๋ยคอกได้สมบูรณ์ 1 ก้อน ได้ก่อนก็จะชนะคู่แข่งทันที ซึ่งความยากของการแข่งขันที่หุ่นยนต์ต้องทำหลายอย่างในเวลาที่จำกัด นักศึกษาที่เข้าแข่งขันต้องวางแผนการทำงาน รู้จักแบ่งหน้าที่ของทุกคนในทีม ออกแบบหุ่นให้สัมพันธ์กับการใช้งาน และต้องใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ทีม “หญ้าแฝก” ซึ่งคว้ารางวัลอออกแบบดีเด่น ประกอบไปด้วย นายฐิติวัสส์ หาญนรงค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธนพงษ์ ดำเป็นไผ่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาลัยรัตภูมิ น.ส.นพรัตน์ อดุลจิต ม.เทคโนโลยีมหานคร นายวรัญญู แสงสีดา ม.ราชภัฏชัยภูมิ และ นายปรมัตถ์ กลยณีย์ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช

ฐิติวัสส์กล่าวว่า ดีใจที่ทีมได้รางวัลออกแบบดีเด่น พร้อมเล่าว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ทางทีมคิดค้นขึ้นมาได้รับแรงบันดาลใจจากเครนก่อสร้าง หรือ Overhead Crane จากเดิมที่เครนหมุนซ้ายขวา แต่เอามาใช้ระดับพื้นราบแทน ประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้นำไปใช้ในการปลูกชำ ถอนวัชพืช รวมไปถึงใช้ขุดดินในลักษณะคร่อมแปลง ส่วนหุ่นยนต์อีกตัวใช้ออกแบบมาเพื่อใช้ตักน้ำ

ส่วนทีมรองชนะเลิศ “เขื่อนดิน” ประกอบด้วยนายพรพัฒน์ ชีวสุนทร จากม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายนัซรุดดิน ดือเระ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ นายเศรษฐวัฒน์ วงศ์หมอ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายคมชาญ คำยอง ม.ราชภัฏอุดรธานี น.ส.สุภาพร พูนพิน ม.เชียงใหม่

นายพรพัฒน์กล่าวว่า ไม่คาดคิดว่าจะได้ที่สอง เพราะหุ่นยนต์ของทีมมีความแตกต่างจากทีมอื่น ขณะที่ทีมอื่นเน้นการจับวางพืช แต่ทีมเราเน้นการควบคุมมากกว่า ทีมอื่นเน้นที่ตัวหุ่นแต่ทีมเราเน้นที่การฝึกฝีมือ

นายคมชาญและนายนัซรุดดินกล่าวเสริมว่า เสียดายที่การออกแบบตัวหุ่นยนต์ของทีมเขื่อนดินคีบต้นไม้ได้น้อยไป

ด้านทีม “ฝนหลวง” คว้าชัยชนะในการแข่งขันครั้งนี้เพื่อไปแข่งที่ประเทศจีนต่อไป ประกอบด้วย นายวิวัฒน์ ศิลารักษ์ จากม.มหิดล นายธัญญรัตน์ หงส์คงคา จากม.เทคโนโลยีมหานคร น.ส.ฐิติมา สุขจิตร จากม.ราชภัฏพิบูลสงคราม นายมาซูวัน ดือเระ ม.สงขลานครินทร์ และ นายสุทิวัส ญาณชโลทร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายธัญญรัตน์กล่าวว่า ดีใจมากและทุกคนได้ทำเต็มที่และถือว่าไม่เกินคาดเพราะได้มาถึงจุดที่ตั้งใจไว้ ส่วนความยากในการแข่งคือโจทย์ เนื่องจากโจทย์ไม่นิ่ง ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ

“ปัจจุบันเกษตรกรลดน้อยลง การเอาหุ่นยนต์เข้ามาช่วยจะทำการเกษตรให้ดีขึ้น ส่วนการเตรียมความพร้อมต่อการแข่งต่อไปที่ประเทศจีนว่าทางทีมจะเน้นการเตรียมด้านเทคนิคและการสื่อสารระหว่างกันในทีมให้มากขึ้นครับ” ตัวแทนทีมแชมป์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน