คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า

“โอกาส” เมื่อมีเข้ามาต้องรีบคว้าไว้ เช่นเดียวกับน้องๆ ทีม WELSE กลุ่มเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโน โลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ ชนะการแข่งขันเวที Imagine Cup Thailand 2017 จากการนำเสนออุปกรณ์ IoT แบบพกพาสำหรับการตรวจเลือดด้วย การทดสอบเชิงคลินิก และส่งผลไปยังแอพพลิเคชัน IoT Platform เพื่อการวิเคราะห์จากแพทย์เป็นลำดับต่อไป

น้องๆ จะเป็นตัวแทนระดับภูมิภาคเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเพื่อชิงถ้วย Imagine Cup ที่กรุงซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา

3 หนุ่ม จากทีม WELSE แชมป์ นายคเณศ เขมิกานิธิ, ลูกคิด นายพสธร สุวรรณศรี และ ปังปอนด์ นายภาสกร จันทรมหา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ร่วมกันบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของผลงานดังกล่าวว่า ทั้ง 3 คน ร่วมกันทำโปรเจ็กต์จบการศึกษา โดยมองถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการแพทย์ในชนบท อีกทั้งการเป็นเด็กวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ได้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ อยากได้ความรู้อะไรที่แตกต่างและใช้ความรู้ที่เรียนมาบูรณาการให้เกิดเป็นผลงานที่ให้ประโยชน์ในวงการแพทย์และวงการศึกษา

“ส่วนตัวเสนอเพื่อนๆ ว่า อยากทำเกี่ยวกับเฮลธ์แคร์ เพราะเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในหลายด้าน แต่ด้านสุขภาพเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องยังไม่มาก อยากสร้างสรรค์อุปกรณ์ที่จะช่วยเหลือด้านการแพทย์” แชมป์เล่า

ก่อนทำโปรเจ็กต์ดังกล่าว 3 หนุ่มลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูล โดยได้ข้อมูลจากเหล่าพยาบาลอาสา ได้เห็นถึงบริการทางการแพทย์ เข้าใจถึงปัญหา เมื่อรู้ปัญหาก็เริ่มค้นหาคำตอบ

แชมป์เล่าต่อว่า นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาค้นหาคำตอบ วางระบบการปฏิบัติการ อุปกรณ์ที่ช่วยกันสร้างนั้นเป็นการตรวจวัดระบบเอนไซม์ในเลือดเพื่อหาค่าความผิดปกติของตับ เป็นขนาดพกพาที่ย่อส่วนจากห้องแล็บมาทำงานควบคู่กับแผ่นพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง นำของเหลวในร่างกายมาผสมกับสารเคมีให้สามารถตรวจวัดความผิดปกติของร่างกายในเบื้องต้นได้ ณ จุดดูแล ผู้ป่วย ตัวอุปกรณ์จะทำงานร่วมกับแพล็ตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้อง ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทีม WELSE ใช้เวลา 1 ปี คิดค้นอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นนวัตกรรมที่ตรวจสอบเลือดเพื่อวัดระดับค่าตับแบบ Early detection จากเดิมเวลาคนไปตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโรคต้องเดินทางไปโรงพยาบาล และต้นทุนในการตรวจปกติต่อการเจาะเลือดหนึ่งครั้งตกอยู่ที่ 150 บาท

แต่ Device ของ WELSE นี้จะช่วยย่อขนาดเครื่องตรวจเลือดเหลือเป็นเครื่องเล็กๆ ที่เข้าถึงระดับชุมชนและชนบทที่ห่างไกลได้ โดยต้นทุนลดเหลือ 30 บาท ต่อ 1 sample และ sample วัดค่าได้ 3 ระดับเอนไซม์ในเลือด 3 ชนิด คือ AST, ALT และ GGT

ลูกคิดเล่าเสริมว่า ตนทำส่วนซอฟต์แวร์ทั้งหมดของโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชัน IoT และ Cloud รวมถึง Mobile Application การทำเว็บต่างๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นไปจนถึงใช้งานได้จริง รวมถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากห้องเรียน

ขณะที่ปังปอนด์เล่าว่า รับผิดชอบในส่วนฮาร์ดแวร์ทั้งหมด หลายสิ่งที่เรียนมาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อาจจะยังไม่พอ เช่น การตรวจเลือดต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนอะไร

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือของเรา 3 คน ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดี ไม่ว่าจะเป็นทางมหาวิทยาลัย ภาคเอกชนอย่าง G-ABLE หรือ SCG ในส่วนของกลุ่มบริษัท G-ABLE ร่วมกับ KMUTT โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ SCG Chemical ในการสร้างสรรค์พัฒนาผลงานเพื่อใช้ได้จริงในโรงพยาบาลต่างๆ

“แต่ละแห่งสนับสนุนเงินทุนและให้คำแนะนำจากทีมวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดโครงการให้กลายเป็นบริษัทสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็น เป้าหมายที่พวกเราวางไว้ แต่ต้องพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าวไปเรื่อยๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดอุปกรณ์ที่สมบูรณ์มากขึ้น” สมาชิกทีม WELSE กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน