คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ดร.กี เล็ม ผู้เชี่ยวชาญ จากศูนย์ศึกษาประสาทสัมผัส จากมหาวิทยาลัยดีคิน ประเทศออสเตรเลีย วิจัยพฤติกรรมการบริโภคผักของเด็กๆ ด้วยการทดสอบเด็กชั้นประถมศึกษา จำนวน 72 คน วันแรกให้แครอตปอกเปลือก 1 กล่อง น้ำหนัก 500 กรัม วันต่อไปคือแครอตหั่นเป็นลูกเต๋าปริมาณเท่าๆ กัน ซึ่งในแต่ละวันจะให้เวลานาน 10 นาทีสำหรับกินผักในกล่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปรากฏว่านักเรียนเกือบทั้งหมดเลือกกินแครอตปอกเปลือกมากกว่าแครอตหั่นถึงร้อยละ 10 จากนั้นทดสอบด้วยการ ให้นักเรียนกินช็อกโกแลตแท่ง กับช็อกโกแลตหั่นชิ้นเล็กๆ พบว่าเด็กนักเรียนเลือกกินช็อกโกแลตแท่งมากกว่าช็อกโกแลตแบ่งส่วน

นักวิจัยอธิบายว่ารูปแบบการกินดังกล่าวเป็น “ยูนิต ไบแอส” หรือความเอนเอียงที่จะทำเป็นหน่วย เช่น ความต้องการกินขนมในถุงขนาดใหญ่ให้หมด ทั้งที่ขนมแบบเดียวกันพออยู่ในถุงขนาดเล็ก เวลากินหมดแล้วกลับไม่ได้รู้สึกอยากกินต่อ ที่เป็นอย่างนี้เพราะมนุษย์มีความรู้สึกดีเมื่อทำอะไรสำเร็จ เรียกได้ว่ายิ่งเจอขนมห่อใหญ่ หรืออาหารซูเปอร์ไซซ์ก็จะกินมากขึ้นเพื่อให้หมดทั้งที่ไม่ได้หิว

หากนำแนวคิดนี้ไปใช้กับการเสิร์ฟเมนูผัก ไม่ว่าจะเป็นการหั่นผักชิ้นใหญ่ๆ หรือใส่ในภาชนะขนาดใหญ่ เด็กๆ ก็จะกินผักได้ มากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน