กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ ร่วมกับนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)

จัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์แสนสนุกรับปิดเทอมสำหรับน้องๆ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 117 คน ใน “กิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตอน สนุกวิทย์….คิดไปกับพ่อ” ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อชวนเด็กๆ ตะลุยแหล่งเรียนรู้เปิดประตูสู่โลกวิทยาศาสตร์ พร้อมร่วมกิจกรรมทดลองเสริมทักษะการพัฒนาสู่ความยั่งยืนกับการประดิษฐ์รถพลังงานทางเลือก และทักษะการสังเกตเพื่อความสร้างสรรค์กับการสำรวจโลกจิ๋วผ่านเลนส์มิวอาย

นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่ากิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ได้รับแรงบันดาลใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สนุกและท้าทาย ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ พัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบด้วยตนเองเพิ่มขึ้น โดยมีน้องๆ นักเรียนชั้นป.4-6 จำนวน 117 คน เข้าร่วม

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการบรรยายเรื่อง ตะลุยแหล่งเรียนรู้ เปิดประตูสู่โลกวิทยาศาสตร์ โดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช. ที่ทำให้ค้นพบว่า มนุษย์เราสามารถ เรียนรู้ได้ตลอดเวลา และมีแหล่งให้สืบค้นและเรียนรู้ไม่จำกัด ขณะที่ กิจกรรมการทดลอง แบ่งน้องๆ ออกเป็น 2 กลุ่มสลับกันเรียนรู้ใน 2 ฐาน ได้แก่ กิจกรรมสังเกตเพื่อสร้างสรรค์ สำรวจโลกใบจิ๋วผ่านเลนส์ มิวอาย

โดยพี่ๆ ทีมวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ จากเนคเทค สวทช. เลนส์มิวอายมีความยืดหยุ่นทนทานต่อการใช้งาน สามารถติดกับกล้องมือถือหรือแท็บเล็ตและใช้งานเป็นกล้องจุลทรรศน์ พกพาได้ โดยใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ขาตั้งแบบ DIY ที่ช่วยกระตุ้นทักษะการเรียนรู้ของน้องๆ ในเรื่องแหล่งกำเนิดแสง แบตเตอรี่ และลูกบิดหมุนปรับระยะวัตถุ ทำให้น้องๆ สำรวจโลกใบจิ๋วผ่านเลนส์มิวอายได้อย่างสนุกยิ่งขึ้น เปิดประสบการณ์และสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากขึ้น

ต่อด้วยกิจกรรมเปิดมุมมองนักคิดส์ วิศวกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก โดยพี่ๆ ทีมวิจัยหน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม จากเอ็มเทค สวทช. กิจกรรมนี้ส่งเสริมทักษะการพัฒนาสู่ความยั่งยืน โดยน้องๆ จะต้องจับคู่กันทำงานทีมละ 2 คน แต่ละทีมต้องประดิษฐ์รถอย่างน้อย 1 คันจากอุปกรณ์และเวลาที่กำหนด เพื่อใช้ในการแข่งขันบนพื้นที่สนามแข่งขัน ทำให้น้องๆ สามารถเรียนรู้ว่า ยานยนต์ที่เราพบเห็นจะวิ่งได้อย่างไรหากไร้เชื้อเพลิง รวมถึงเรียนรู้ด้านการออกแบบและวิศวกรรมยานยนต์ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน