เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ไชน่าเดลีรายงานว่า กองทัพเรือจีนเปิดเผยความสำเร็จในการพัฒนาระบบส่งเครื่องบินแบบคาตาพัลต์ ซึ่งอาศัยหลักการแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Aircraft Launch System) หรือ EMALS (ตัวอย่างคลิปด้านล่าง) สำหรับใช้บนเรือบรรทุกเครื่องบิน เมดอินไชน่า มีกำหนดจะเริ่มก่อสร้างที่นครเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้

ความสำเร็จในการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนมีเทคโนโลยีส่งเครื่องบินรบเทียบชั้นได้กับเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาแล้ว จากเดิมที่องค์ความรู้ดังกล่าวมีอยู่เฉพาะในกองทัพสหรัฐ และมีเพียงกองทัพเรือสหรัฐเท่านั้นที่ครอบครองคาตาพัลต์แม่เหล็กไฟฟ้า

GlobalSecurity.org

พลเรือตรีหยิน โจว ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการที่ปรึกษากองทัพเรือจีน กล่าวว่า กองทัพเรือจีนนำระบบดังกล่าวมาทดสอบใช้จริงกับเครื่องบินรบรุ่น เจ-15 แล้วหลายพันครั้ง

การพัฒนาคาตาพัลต์แม่เหล็กไฟฟ้าประสบความสำเร็จเนื่องจากวิศวกรของจีนออกแบบระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าภายในเรือบรรทุกเครื่องบินใหม่ จุดนี้แสดงถึงว่า องค์ความรู้ของจีนมีความก้าวหน้ากว่าสหรัฐ

คาตาพัลต์แม่เหล็กไฟฟ้านั้นนับเป็นระบบส่งเครื่องบินที่ก้าวหน้าที่สุดแล้วในปัจจุบัน และจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ที่จีนจะสร้างเอง

GlobalSecurity.org

“หากเทียบกับสหรัฐแล้ว จีนมีความก้าวหน้ากว่าในองค์ความรู้การพัฒนาชิ้นส่วนหลายชิ้น อาทิ เครื่องควบคุมมอเตอร์ และการออกแบบซอฟต์แวร์ควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้า เพราะจีนเป็นผู้นำด้านการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีไฟฟ้าแบบบูรณาการณ์อยู่แล้ว” พลเรือตรียิน กล่าว

รายงานระบุว่า ระบบคาตาพัลต์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากบนเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีความยาวลู่วิ่งจำกัดทำให้เครื่องบินไม่มีความเร็วเพียงพอในการเหินขึ้นสู่อากาศ คาตาพัลต์รุ่นทั่วไปเป็นระบบความดันไอน้ำ ที่จะติดตั้งไว้กับพื้นและล้อของเครื่องก่อนจะลากเครื่องไปด้วยความเร่งสูง ทำให้เครื่องบินมีความเร็วเพียงพอที่จะเหินอากาศได้

Type 001A, China’s second aircraft carrier, is transferred from the dry dock into the water during a launch ceremony at Dalian shipyard in Dalian, northeast China’s Liaoning Province, April 26, 2017. / AFP PHOTO / STR / CHINA OUT

นายหวัง หย่าหนาน บรรณาธิการของนิตยสารแอโรสเปซ โนวเลจ กล่าวว่า คาตาพัลต์แม่เหล็กไฟฟ้ามีข้อดีกว่าคาตาพัลต์แรงดันไอน้ำ เพราะจะทำให้ส่งเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นได้ เช่น เครื่องบินเรดาร์เตือนภัยล่วงหน้า และทำให้เครื่องบินรบติดตั้งอาวุธได้มากขึ้น รวมทั้งติดตั้งถังเชื้อเพลิงสำรองได้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กองทัพเรือจีนปัจจุบันเพิ่งมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก ชื่อว่า ซีเอ็นเอส เหลียวหนิง ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินแบบเก่าที่จีนซื้อต่อมาจากอดีตสหภาพโซเวียตและนำกลับมาปรับปรุงใหม่ เข้าประจำการตั้งแต่เดือนก.ย. 2555

เรือปล่อยจากท่าเรือเมืองต้าเหลียน / AFP PHOTO / STR / CHINA OUT

ซีเอ็นเอส เหลียวหนิง ไม่ใช้ระบบคาตาพัลต์ในการส่งเครื่องบิน แต่ใช้ลู่วิ่งที่มีความชันโค้งขึ้นที่ปลายทางเพื่อเพิ่มองศาการกินลมให้กับเครื่องบิน ส่งผลให้แรงยกตัวเพิ่มขึ้น (แบบเดียวกันกับเรือรบหลวงจักรีนฤเบศรของกองทัพเรือไทย) ไม่เหมือนกับเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐที่ใช้ระบบคาตาพัลต์ทั้งหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน