เอ็กซ์ตรีมเทครายงานว่า นายอาจิต ภัย ผู้อำนวยการคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเอฟซีซี (เทียบเท่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช. ของไทย) ระบุว่า ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ ทางเอฟซีซีจะเปิดประชุมเพื่อออกเสียงยกเลิกข้อบังคับที่ 2 ในรัฐบัญญัติการสื่อสารปี 2477 (Title II of the Communications Act of 1934) ที่ว่าด้วยการบังคับให้บรรดาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ในสหรัฐต้องให้บริการลูกค้าด้วยอัตราเร็วข้อมูลคงที่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ ISP ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงอัตราเร็วลูกค้ามาบีบบังคับให้ลูกค้าต้องชำระค่าใช้จ่ายเพิ่มเพื่อเข้าสู่เว็บไซต์ต่างๆ เร็วขึ้น

โดยนโยบายนี้เรียกสั้นๆ ว่า “ความเสมอภาคออนไลน์” หรือเน็ต นิวทรอลิตี้ (Net Neutrality) สร้างความกังวลให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก ว่าจะเป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับหน่วยงานของแต่ละประเทศซึ่งอาจเลียนแบบ และทำให้ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตถูกเอาเปรียบจาก ISP ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เปลี่ยนแปลงนโยบาย

นายภัย อ้างว่า ความเสมอภาคออนไลน์ดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพื่อการสร้างและขยายเครือข่ายโทรคมนาคมอินเตอร์เน็ต รวมทั้งสกัดกั้นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่บรรดาเว็บไซต์ด้านไอทีต่างพากันแสดงความเห็นคัดค้าน เช่น อาร์ส เทคนิกา ระบุว่า การลงทุนเพื่อการสร้างและขยายเครือข่ายไร้สายไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากเน็ต นิวทรอลิตี้

ขณะที่ ฟรี เพรสส์ นำข้อมูลของบรรดา ISP หลายค่ายที่เคยชี้แจงกับนักลงทุนว่า เน็ต นิวทรอลิตี้ ไม่ส่งผลด้านลบกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ แต่กฎหมายความเสมอภาคออนไลน์ ทำให้ ISP ไม่สามารถสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อบีบบังคับให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจ่ายเงินเพิ่มได้สำหรับแพ็คเกจเน็ตเดิม

รายงานระบุว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เขียนความคิดเห้นลงในเว็บไซต์ของเอฟซีซี พบว่าร้อยละ 98.5 ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายความเสมอภาคออนไลน์ นอกจากนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านการยกเลิกความเสมอภาคออนไลน์ระบุว่า หากเอฟซีซีมีมติยกเลิกกฎหมายดังกล่าวก็จะยื่นฟ้องต่อศาลให้พิจารณาให้มติดังกล่าวเป็นโมฆะ เพราะเป็นการเปิดทางให้ ISP เอาเปรียบผู้บริโภค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน