อินดิเพนเดนต์รายงานการค้นพบปลาชนิดใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ อยู่ระหว่างสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกบริเวณมาริอานา เทรนช์ ของมหาสมุทรแปลซิฟิกซีกตะวันตก ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในโลก พบปลาที่มีลักษณะแปลกประหลาดที่ความลึกถึง 8,178 เมตร สร้างสถิติใหม่ให้กับสิ่งมีชีวิตทางทะเลที่อาศัยอยู่ลึกที่สุดแซงปลาอีเธอเรียล สเนลฟิช

เจ้าปลาตัวใหม่นี้มีชื่อว่า มารีอานา สเนลฟิช พบที่ความลึกที่สุดเท่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะเป็นไปได้ คือประมาณ 8,200 เมตร ซึ่งมีแรงบีบอัดมหาศาล แต่ที่ทำให้งุนงงคือปลานี้อาจเคยว่ายลงไปลึกกว่านั้น ซึ่งในทางทฤษฎีเดิมนั้นเป็นไปไม่ได้

(Mackenzie Gerringer/University of Washington)

ดร.โทมัส ลินลีย์ จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ปลาทะเลนั้นจะมีสารเคมีเคลือบผิว เรียกว่า ไตรเมทธิลามีน เอ็น-ออกไซด์ หรือ ทีเอ็มเอโอ ส่งผลให้โมเลกุลของผิวหนังสามารถรับแรงบีบอัดมหาศาลในทะเลลึกได้ โดยสารชนิดนี้เป็นต้นเหตุของกลิ่นคาวปลา ขณะที่แรงกดทับบริเวณที่ปลามารีอานา สเนลฟิช อาศัยอยู่นั้นมีน้ำหนักเท่ากับเครื่องบินโบอิ้ง 747 ซ้อนทับกับ 50 ลำ

(Mackenzie Gerringer/University of Washington)

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปลาที่ยิ่งอยู่ลึกลงไปจะมีปริมาณของสารทีเอ็มเอโอมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากลึกเกินกว่า 8,200 เมตร สารชนิดนี้จะมีความหนาแน่นสูงเกินกว่าน้ำทะเล ทำให้ปลาไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ จึงเชื่อว่า ความลึกสุดที่ปลาจะอยู่ได้คือความลึกดังกล่าว แต่มารีอานา สเนลฟิชกลับลงไปได้ลึกว่านั้น ส่งผลให้จะต้องมีการรื้อทฤษฎีกันใหม่

 

ผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มารีอานา สเนลฟิช เป็นปลาที่มีความบอบบางอย่างมาก มีกระดูกที่อ่อนแอ และผิวหนังที่บางเฉียบ โดยดร.แม็คเคนซี เกอร์รินเจอร์ จากมหาวิทยาลัยกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ ระบุว่า “ปลาชนิดนี้ดุไม่แข็งแรงแม้จะอยู่อาศัยในสภาวะที่โหดสุดขั้ว แต่พวกมันก็อยู่รอดได้”

 

“คิดว่าคงมีอะไรน่าแปลกใจอีกมากอยู่ที่ก้นบึ้งของมารีอาน่าเทรนช์ มันหน้าตื่นตาตื่นใจมากที่จะได้เห็นว่ามีอะไรอาศัยอยู่ที่นั่นบ้าง สำหรับมนุษย์อย่างพวกเราก็คิดแต่ว่าที่ความลึกระดับนั้นมันโหดสุดขั้ว แต่พวกมันก็ดูร่าเริงดีนะ” ดร.เกอร์รินเจอร์ กล่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน