แม้ดิจิตอลเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเปลี่ยน แปลงในวิถีชีวิต การทำงาน การศึกษาและแพลตฟอร์มการทำธุรกิจใหม่ๆ ความสะดวกสบาย ชีวิตที่ทันสมัยและประสิทธิภาพ แต่ก็มีภัยทางไซเบอร์ตามมาด้วย

ในการจัดแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge 2017 ที่ศูนย์ CCEC เมือง กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผลปรากฏว่า ทีม 555 พลัส จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

การแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge เป็นเวทีประลองทักษะและความสามารถในความปลอดภัยไซเบอร์ด้านการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ การตรวจสอบช่องโหว่ของเว็บและโมบายแอพพลิเคชั่น ช่องโหว่ของระบบเครือข่าย และระบบปฏิบัติการ การวิเคราะห์การทำงานของมัลแวร์ การทำวิศวกรรมย้อนกลับ การเข้ารหัส และการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ต่างๆ จัดโดย เคพีเอ็มจี เพื่อส่งเสริมศักยภาพความสามารถของเยาวชน พัฒนาการป้องกันการแฮ็กข้อมูลและยกระดับความปลอดภัยทางดิจิตอล

ดรีม อิสรา นรานิรัติศัย หนุ่มนักศึกษาหัวหน้าทีมไทย ภาควิชาวิศวกรรมคอม พิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า สมาชิกในทีมมี 4 คนคือ ตนเอง นาย เมธาสิทธิ์ รินทร นายกมนณพ อรุณรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ นายธรรศ แสงสมเรือง ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี ผศ.อัครเดช วัชระภูพงษ์ เป็นอาจารย์ควบคุมทีม

ในการแข่งขันจะมีโจทย์ต่างๆ เพื่อทดสอบทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยจะเป็นโจทย์ให้ทำเรียงลำดับเป็นข้อๆ ความท้าทายอยู่ที่เมื่อได้คำตอบในข้อปัจจุบัน จะเป็นเบาะแสเพื่อหาคำตอบในข้อถัดไป เกณฑ์การตัดสินดูจากคะแนนที่ได้จากการหาคำตอบและเวลาส่งคำตอบที่เร็วที่สุดในกรณีที่ได้คะแนนเท่ากัน ทีมเตรียมตัวมาอย่างหนัก โดยนำโจทย์เก่าๆ และโจทย์จากการแข่งขันรายการอื่นๆ มาฝึกซ้อม

“ประสบการณ์ที่ได้รับสามารถนำมาพัฒนาสำหรับบ้านเรา มีโอกาสรู้จักมืออาชีพในวงการความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ฝึกประสบการณ์จากการแข่งขันและเพิ่มพูนความรู้ทางด้าน Cyber มากขึ้น รวมถึงการทำงานเป็นทีม เพราะขั้นตอนการแข่งขันต้องช่วยกันระดมความคิดเพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ต่างๆ

ในเวลาเดียวกันยังช่วยแก้การไขรหัสแฮ็กข้อมูล นำมาประยุกต์ใช้ ทำให้ทราบถึงกลวิธีและจุดอ่อนของตนเองล่วงหน้าเพื่อหาทางป้องกันก่อนที่ผู้ประสงค์ร้ายจะกระทำการไม่ดีต่อระบบอาชญากรรมทางไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง การโจมตีทางระบบความปลอดภัยไซเบอร์เกิดเป็นช่องโหว่ความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ในระดับสูงสุดมากเป็นประวัติการณ์” ดรีมกล่าว

ดรีมให้มุมมองว่า เทคโนโลยีนั้นมี 2 ด้าน ประโยชน์มากล้น แต่มีข้อควรระวังในการใช้คอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัย เช่น ควรตรวจสอบความปลอดภัยสม่ำเสมอ ไม่ติดตั้งหรือดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ที่มีความเสี่ยงไม่น่า เชื่อถือ รักษาความเป็นส่วนตัว การตั้งรหัสผ่านต่างๆ ให้ยากต่อการเดา เพราะวิธีการของแฮ็กเกอร์จะหาจุดอ่อนหรือช่องโหว่ของระบบ จากนั้นจะเจาะเข้ามาในเซิร์ฟเวอร์และเข้ามาทำความเสียหายให้กับข้อมูล

นอกจากนี้ควรมีข้อปฏิบัติที่ดี คือ 1.ติดตั้งซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย 2.ตั้งค่า ระบบ ไอทีให้รัดกุม 3.สำรองข้อมูลสม่ำเสมอ 4.กำหนดสิทธิผู้ใช้ และ 5.จัดการสภาพแวดล้อมทางไอที ให้เป็นระบบปิดมากที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน