กรุงเทพฯ 28 ตุลาคม 2559 – สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ร่วมกับ UL ซึ่งเป็นองค์กรวิทยาศาสตร์ด้านความปลอดภัยระดับโลก ประกาศให้ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ จากประเทศไทย เป็นผู้ชนะเลิศรับรางวัล 2016 ASEAN-U.S. Science Prize for Women โดยด้รับการยกย่องในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ประเทศกัมพูชา

สำหรับผลงานวิจัยด้านพลังงานอย่างยั่งยืนที่ดร.วรจิตต์๋ริเริ่มขึ้น และก่อให้เกิดประโยชน์กับภูมิภาคอาเซียน สำหรับรางวัลมูลค่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มอบเป็นประจำทุกปีเพื่อสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์หญิงในภูมิภาคอาเซียน ที่มีศักยภาพ อยู่ในวัยทำงานเริ่มต้น และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ในการค้นหาวิถีทางสู่พลังงานที่ยั่งยืน ดร.วรจิตต์ ได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัครกว่า 60 คนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นตัวแทนของนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีความยอดเยี่ยมและเป็นเลิศในด้านพลังงานที่ยั่งยืน
“วิถีทางสู่พลังงานยั่งยืนมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมาสำหรับประเทศไทย เนื่องจากความต้องการบริโภคพลังงานของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 75 ในอีกสองทศวรรษหน้า” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กลิน ที. เดวีส์กล่าว และว่า “สหรัฐอเมริกามีความภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนนักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีความคิดริเริ่มด้านนวัตกรรมเช่นดร.วรจิตต์ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าด้านพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทย และช่วยตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของประชาชนชาวไทย”
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงงานอย่างทรงไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวไทยให้ดีขึ้นและยั่งยืน ความมุ่งมั่นของพระองค์ท่านได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทีมของดิฉันและตัวดิฉันเองในการสร้าง “เมืองสีเขียว” ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชีวิตของจริง ในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น ดิฉันมีความรู้สึกขอบคุณและขอน้อมรับรางวัลอันทรงคุณค่านี้เพื่อเดินหน้างานของพวกเราในสายงานนี้ต่อไป” ดร.วรจิตต์ ผู้ชนะเลิศรางวัลนี้ กล่าว
ดร.วรจิตต์ เป็นคณบดีวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีประสบการณ์มากมายในการพัฒนาระบบพลังงานที่มีราคาไม่สูงมาก มีความเหมาะสมและยั่งยืนเพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพในชุมชนขนาดเล็กและห่างไกล ได้พัฒนาและบริหารโครงการเชียงใหม่-เมืองสีเขียวโลก (Chiang Mai World Green City) ซึ่งเป็นห้องทดลองที่มีชีวิตในด้านการนำพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้

สามารถรับชมวิดีโอแนะนำ ดร.วรจิตต์ และโครงการของเธอได้ที่https://youtu.be/4TNfcPx9ofc

 

รางวัลนักวิทยาศาสตร์หญิงยอดเยี่ยมประจำปี 2016 เป็นหนึ่งในหลากหลายความริเริ่มของสหรัฐอเมริกาในการส่งเสริมอาเซียนและประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยสหรัฐฯได้ร่วมมือกับอาเซียนในการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การขยายความร่วมมือทางทะเล การบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ การส่งเสริมโอกาสสำหรับผู้หญิง และการรับมือกับประเด็นความท้าทายต่างๆข้ามประเทศ ขอบข่ายของโครงการต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่หยั่งรากลึกขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน