เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
ข่าววันนี้ Exclusive Featured

“นิลจิตรลดา”พันธุ์ปลาพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 แหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมของคนไทย

“นิลจิตรลดา”พันธุ์ปลาพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 แหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมของคนไทย

ปลานิลจิตรลดา เป็นปลาพระราชทาน ที่มีจุดเด่นในการเลี้ยงง่าย โตไว เหมาะจะเผยแพร่สู่เกษตรกรให้นำไปเลี้ยงสร้างรายได้และอาชีพ สู่ความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย

 

ดร.จรัลธาดา กรรณสูต อดีตอธิบดีกรมประมง กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดา ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2489 ขณะนั้นประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อันเป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานโครงการพระราชดำริมากมายเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชน

รวมถึงโครงการพันธุ์ปลานิล ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแสวนห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาทิโลเปีย นิโลติกา (Tilapia Nilatica) จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.  2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และได้พระราชทานลูกปลานิล 10,000 ตัว ให้กรมประมงได้ดำเนินการขยายพันธุ์และได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์

2-42

ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ทางประตูพระยมอยู่คุ้น ฝั่งถนนศรีอยุธยา จะมีบ่อปลา ตัวอย่าง จำนวน 3 บ่อ ที่เลี้ยงปลานิลไว้ในกระชัง ลักษณะของบ่อปลาเป็นบ่อดินมีขนาด 150 ตารางเมตร เลี้ยงแม่พันธุ์จำนวน 60  ตัว และพ่อพันธุ์จำนวน 30 ตัว โดยการเลี้ยงเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำปลานิลไปขยายพันธุ์ต่อและแจกจ่ายให้กับเกษตรกร พร้อมพระราชทานนามว่า ปลานิล เพราะมีสีเทาๆ ดำๆ นับจากนั้น ปลานิลได้กลายเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมของคนไทยทั้งประเทศ สร้างความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรและประชาชน  นอกจากนี้ ยังเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลด้วย

p1030564

ไม่เพียงแต่การหาแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมให้ปวงชนชาวไทยเท่านั้น พระองค์ยังทรงสอนถึงวิธีการจับปลาด้วยว่า ให้จับตัวเล็ก เพื่อที่จะได้มีแม่พันธุ์ไว้ขยายต่อไป เมื่อมีข่าวว่าประชาชนประสบภัย พระองค์จะรับสั่งว่า “ที่ฉันเลี้ยงไว้ เอาไปช่วยได้ไหม” ทรงห่วงใยราษฎรอยู่เสมอ ดร.จรัลธาดา บอกเล่า

เมื่อปลานิลขยายพันธุ์รวดเร็วและออกไข่จำนวนมาก ทำให้ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีตัวเล็ก ในปี พ.ศ. 2531 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลให้มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมากขึ้น ทำให้มีปลานิลพันธุ์จิตรลดา 1 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปลานิลทั่วไป ให้ผลผลิตและอัตราการรอดเพิ่มขึ้น ต่อมาพัฒนาเป็นปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 2 ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3 และปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 4 จากนั้นได้พระราชทานให้เกษตรกรในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นปีมหามงคล “3 ปีติ” ที่คนไทยพร้อมใจกันเฉลิมฉลอง 70 ปีการขึ้นครองราชย์ของมหาราชา ตลอดจนเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพันธุ์ปลานิลให้กับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้เกษตรกรทำการเพาะเลี้ยง พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการด้วยระบบสหกรณ์ ยังผลให้ธุรกิจปลานิลเจริญก้าวหน้า ก่อเกิดทั้งรายได้และการมีซึ่งอาหารโปรตีนสำหรับการบริโภคของราษฎรไทย

 

คุณสนธิพันธ์ ผาสุขดี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด บอกว่า การเลี้ยงปลานิลที่เหมาะกับการค้าขาย ต้องเลี้ยงปลาเพศผู้เท่านั้น เพราะจะให้น้ำหนักดี โตไว  เนื่องจากตัวเมียจะมีขนาดตัวไม่ใหญ่ น้ำหนักน้อย เวลานำไปขายจึงขาดทุน

พอเป็นเช่นนี้ จึงมีการพัฒนาให้ปลานิลที่เลี้ยงในเชิงการค้าเป็นเพศผู้ทั้งหมดได้ เพราะปลานิลสามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมหรือเพศได้ ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีคือ 1. เปลี่ยนแปลงโครโมโซมเพศ ทำให้การผสมเป็น YY คือเพศผู้ และ 2. การใช้ฮอร์โมนเพศชายในการเลี้ยง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้ง่ายและเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมด้วย

p1030525

โดยวิธีการในการให้ฮอร์โมน คือ หลังจากการฟักออกจากไข่ ประมาณ 15 วัน และให้ต่อเนื่องประมาณ 20-25 วัน ปลานิลจะมีโอกาสกลายเป็นเพศผู้มากกว่าเพศเมียเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

สำหรับการใช้ฮอร์โมนเพศนี้ ไม่มีผลกระทบหรือความเสี่ยงในการบริโภค เพราะฮอร์โมนเพศดังกล่าวจะค่อยๆ  หายไป เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเลี้ยงปลานิลต่อไปอีกประมาณ 6-8 เดือน จึงจะสามารถนำไปจำหน่ายได้

สำหรับการเลี้ยงปลานิลมีหลายรูปแบบ นิยมกันมากคือ การเลี้ยงในบ่อดินและกระชัง โดยมีข้อแตกต่างกันดังนี้

– บ่อดิน ต้นทุนในการเลี้ยงและลงทุนต่ำกว่าการเลี้ยงในกระชัง ปลาไม่ค่อยเสี่ยงต่อโรค คือจะแข็งแรง แต่อาจติดเรื่องของกลิ่นสาบดินโคลนในตัวปลาบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นทุกพื้นที่ที่เลี้ยง ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำ การดูแล รักษาและการทำความสะอาดก่อนบริโภค

– กระชัง การลงทุนในตอนแรกค่าใช้จ่ายอาจสูง เนื่องจากกระชัง 1 ลูก ราคาขายก็สูงพอสมควร เลี้ยงในบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำไหล อาจมีเสี่ยงต่อการติดโรคมาจากแหล่งน้ำที่ไหลผ่าน แต่จุดเด่นคือตัวปลาจะไม่มีกลิ่น

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%b4%e0%b8%a5-728x485

อาหารของปลานิลนั้น สามารถกินได้ทั้งอาหารเม็ดและอาหารหมักจากพืชผักได้ ซึ่งหากให้อาหารหมักเสริมจะช่วยลดต้นทุนอาหารในการเลี้ยงปลานิลได้

คุณสนธิพันธ์ บอกต่อว่า ปัจจุบันตลาดปลานิลเป็นที่นิยม การเพาะเลี้ยงลูกปลาในการขายให้เกษตรกรของกรมประมงเอง มากถึงปีละ 300 ล้านตัว ส่วนราคาขายเมื่อถึงวัยที่ปลานิลสามารถจำหน่ายได้ราคาเฉลี่ย 55-65 บาท ต่อกิโลกรัม โดยเฉลี่ย จนถึงราคาอาจสูงถึง 100 บาท ต่อกิโลกรัม ในบางพื้นที่ ทั้งนี้ปัจจัยขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการเพาะเลี้ยง และความต้องการของตลาดว่ามากน้อยขนาดไหน รวมไปถึงปลานิลออกสู่ตลาดมากหรือน้อยในแต่ละช่วงด้วย

 

เผยแพร่แล้วเมื่อ 12 ตุลาคม 2020

Related Posts

เริ่มต้นใหม่หลังเกษียณ! อดีตนักข่าวสำนักดัง สู่บาริสต้ารุ่นใหญ่ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า "อายุไม่ใช่ข้อจำกัด แต่เรายังมีประโยชน์ ยังมีไฟ"
วัตสัน เปิดเทรนด์นักช้อปยุคนี้ ชอบ "ช้อปก่อนนอน" ที่น่าสนใจคือ กลุ่ม Gen Z มักลงทุนสกินแคร์/เครื่องสำอาง