เทคนิค บีบมะนาว ช่วยร้านอาหาร ประหยัดต้นทุนได้ เดือนเป็นพัน จริงดิ!?!
“การเดินทางของมะนาว” ผมมักยกมาเป็นตัวอย่างประจำในการอบรมหรือบรรยายให้คนทำร้านอาหารเห็นความสำคัญของการเป็น “ร้านอาหารสีเขียว” คือ ร้านอาหารที่มีการปฏิบัติเพื่อสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมไปถึงการปฏิบัติต่อผู้คน พนักงาน ลูกค้า ชุมชน เรื่องของพลังงาน น้ำ การประกอบอาหาร การใช้วัตถุดิบ การลดขยะ การกำจัดมลพิษ และอีกหลายๆ เรื่องข้อย่อยยุบยิบ
แต่พอเอ่ยเรื่องนี้กับใครมักไม่ค่อยเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดูไกลตัว ใครๆ ก็ใช้ถุงพลาสติก เทเศษอาหารลงขยะ เทน้ำล้างจานลงท่อ
ผมเลยคิดหาวิธียกตัวอย่างว่า ถ้าคุณทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ยังดีทั้งต่อคนอื่น ต่อตัวคุณเอง ต่อร้านอาหาร และที่สำคัญ เพิ่มพูนผลกำไรให้ด้วย เลยมาได้เรื่องของ “มะนาว”
คำถามแรกที่ผมถามคนเข้าอบรมทุกคนคือ “ปกติคุณหั่นมะนาวเพื่อบีบเอาน้ำมะนาว คุณหั่นยังไง”
ถ้าคนที่บ้านหลายคน อาจจะผ่าครึ่งลูกตามขวาง แล้วบีบเอาน้ำออก กรองเมล็ดโดยใช้นิ้วมือ (อย่าลืมล้างมือก่อน) ช้อน หรือที่บีบน้ำมะนาวก็ตามแต่ ซึ่งเป็นวิธีที่ดี ได้น้ำมะนาวเต็มเม็ดเต็มหน่วย เหลือแต่เปลือกกับเมล็ดเป็นขยะ

แต่ตามร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะฝานมะนาวเป็นชิ้นๆ 3 ชิ้น เว้นแกนกลาง เพื่อให้ใช้มือบีบมะนาวได้ง่ายๆ ไม่มีเมล็ดติด ไม่ต้องกรองเมล็ด ทำงานได้รวดเร็ว ส่วนแกนกลางติดเมล็ดและมีเนื้อมะนาวติดอยู่อีกจำนวนหนึ่งโยนทิ้งไป
เช่นเดียวกับการหั่นมะนาวชิ้นเสิร์ฟกับข้าวผัด ก็จะเหลือแกนกลางติดเนื้อติดเมล็ดนี้เช่นกัน และกลายเป็นขยะในที่สุด
ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเรานำแกนกลางที่จะโยนทิ้งนั้นมาคั้นน้ำมะนาวเก็บไว้ หรือเปลี่ยนวิธีการฝานมะนาวมาเป็นผ่าครึ่งลูก เราจะได้น้ำมะนาวเยอะมากขึ้นอีกเท่าไหร่
พอดีผมยังไม่เคยทดลองเหมือนกัน นึกๆ เอาว่ามะนาวหน้าน้ำ แกนกลางสัก 6 แกน น่าจะเทียบได้กับน้ำมะนาว 1 ลูก
ดังนั้นเท่ากับว่า การบีบน้ำจากแกนกลาง 6 แกน ได้น้ำมะนาวเพิ่มมาอีก 1 ลูก หรือประหยัดมะนาวไปอีก 1 ลูก ราคามะนาวหน้าน้ำประมาณลูกละ 3-5 บาท หน้าแล้งเคยขึ้นไปถึง 10 บาท ยิ่งเราใช้น้ำมะนาวเยอะ คั้นมะนาวให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างนี้ จะประหยัดการใช้มะนาวไปได้มากมาย
สมมติประหยัดไปได้วันละ 10 ลูก ก็ประหยัดเงินไป 10×5=50 บาท เดือนหนึ่ง 30 วัน ประหยัดไปได้อีก 10×30=300 ลูก หรือเป็นจำนวนเงินถึง 300×5=1,500 บาท ปีหนึ่ง 12 เดือน ประหยัดไปอีก 1,500×12=18,000 บาท!
เผยแพร่แล้วเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566