เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured ข่าววันนี้

มังคุดไทย ไปได้ดี ตลาดจีนถึงโลละ 70 บาท เร่งแผนพัฒนา มังคุดพรีเมียม

มังคุดไทยไปได้ดี ตลาดจีนถึงโลละ 70 บาท เร่งแผนพัฒนามังคุดพรีเมียม

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ร.ต.อรุณ บุญวงศ์ ประธานกลุ่มมังคุดบ้านน้ำดำ (ชะอวดโมเดล) อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตอนนี้ราคามังคุดเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้าราคาลดต่ำลง เพราะมีผู้ประกอบการ (ล้ง) มาประมูลกันมากขึ้น 80-85% โดยกลุ่มมังคุดบ้านน้ำดำมีผู้ประมูลวันละ 6-7 ราย ล่าสุดราคาประมูลเกรดผิวมันรวมหรือเกรดส่งออกอยู่ที่ กก.ละ 57 บาท ผิวดำ 15-17 บาท

ซึ่งราคามังคุดที่ผ่านการประมูลปรับราคาดีขึ้น และล้งจะช่วยซื้อเกรดที่ตกไซซ์ผิวดำที่มีปริมาณมาก ส่งตลาดภายในประเทศ คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคม ปริมาณมังคุดใกล้หมดรุ่น ราคาจะดีขึ้นเรื่อยๆ อาจจะถึง 60-70 บาท เพราะตลาดจีนไปได้ดี

ซึ่งราคาประมูลเป็นราคาของผู้ส่งออก สูงกว่าแผงรับซื้อข้างทางและ กก.ละ 25-30 บาท ที่ชาวสวนขายแบบเทรวมไม่คัดเกรดจะแยกเฉพาะปัดดอก ปัดดำ (ผิวสีดำไม่สวย) การยื่นประมูลแม้มีรายเดียวราคาต้องสูงกว่าราคาตลาด 10% ป้องกันพ่อค้าฮั้วกัน หรือกดราคา มีบางรายยื่นราคาต่ำมาก

“ราคาจะผันผวน 2 ช่วงทุกๆ ปี คือ ช่วงต้นฤดู ปริมาณมังคุดไม่มาก และล้งยังเปิดรับซื้อน้อย ราคาจะสูงระยะสั้นๆ เมื่อผลผลิตเริ่มมาก ล้งยังเปิดรับซื้อน้อย แทบไม่มีการแข่งขัน ราคาจะลดลงอย่างรวดเร็ว ล้งจะอ้างว่าของยังมีน้อยปริมาณไม่พอเปิดล้ง และคุณภาพไม่ดี ชาวสวนบางรายหยุดเก็บเพราะราคาต่ำไม่คุ้มทุน และเมื่อปริมาณมากขึ้น ล้งเริ่มเปิดราคาจะขยับขึ้นช่วงสั้นๆ ต่อมาราคาจะลดลง โดยอ้างกลไกตลาด”

สำหรับตลาดจีนล้งมีความต้องการเบอร์ 1-3 ยังขายได้ราคา แต่เบอร์ตกไซซ์ที่มีปริมาณมากตลาดอยู่ภายในประเทศราคาถูกมาก การที่หน่วยงานภาครัฐช่วยพยุงราคา จะช่วยดันราคาตลาดให้สูงขึ้น แต่ต้องวางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้าและช่วยให้ตลอดจนจบฤดูกาล ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วแก้ไขช่วงสั้นๆ 2-3 วัน การพยุงราคาทำได้เพราะผู้ประกอบการรู้ราคาปลายทาง และช่วงที่ราคาผันผวน ตกต่ำจะรวดเร็วมาก

โดยปลายเดือนสิงหาคมนี้ มังคุดภาคใต้จะมีปริมาณมากเฉพาะนครศรีธรรมราช 30,000 ตัน ชุมพร 10,000 ตัน และมีมังคุดที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ จ.นราธิวาส-นครศรีธรรมราช จะสุกกลางเดือนกันยายน ออกมาด้วยปริมาณมาก จากสภาพอากาศร้อนจัด ล้งทางภาคใต้ตอนล่างมี 1-2 แห่งจะส่งมาแพ็กที่นครศรีธรรมราชและชุมพร

ทั้งนี้ หน่วยงานเกี่ยวข้องกับการส่งออก การปิด-เปิดตู้ การปล่อยตู้ ได้เตรียมอำนวยความสะดวกการส่งออกเพื่อระบายผลผลิตให้ได้มากที่สุด

“อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนยังไปได้ดี ราคาประมูลเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงแม้ในช่วงวิกฤตเพราะเป็นราคาของผู้ส่งออก ทางออกแก้ปัญหาราคาตกต่ำ เกษตรกรต้องรวมตัวกันขายแบบประมูล” ร.ต.อรุณ กล่าว

แผนพัฒนามังคุดพรีเมียม

นายชวิศร์ สวัสดิสาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช (ศวพ.) เปิดเผยว่า มังคุดภาคใต้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัจจัย 2-3 ข้อ คือ 1) ตลาดจีนมีความต้องการสูง ล้งเปิดรับซื้อมากขึ้น 70-80% และการส่งและกระจายสินค้าไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น 2) ใบ GAP ของ จ.นครศรีธรรมราชมี 100% เพียงพอกับการส่งออก 3) การรวมกลุ่มของเกษตรกรขายแบบประมูลได้ราคาสูง เป็นมังคุดคุณภาพ มีการคัดเกรด

“ช่วงเดียวกันนี้มีมังคุดอินโดนีเซียรุ่นแรกที่ลูกใหญ่ ผิวสวย เข้ามาแข่งขันในตลาดจีน ซึ่งมังคุดไทยปลายฤดูกาลจะลูกเล็กกว่า ขณะนี้ผลผลิตมังคุดออกไปแล้ว 70% จากนครศรีธรรมราช 13,000 ตัน ชุมพร 10,000 ตัน คาดว่าเหลืออีก 4,000-5,000 ตัน และมังคุดภาคใต้ตอนล่างใน 3 จังหวัด (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) สงขลา และจังหวัดอื่นๆ เริ่มทยอยออก 10% ส่งมาปิดตู้ให้ล้งที่นครศรีธรรมราช ชุมพร เพราะภาคใต้ตอนล่างมีล้งเพียง 2 แห่ง ที่ยะลา นราธิวาส

ปี 2566-2567 ศวพ. วางแผนพัฒนามังคุดภาคใต้เป็นมังคุดคุณภาพ (พรีเมียม) เพื่อการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ จากปี 2565 มีมังคุดพรีเมียม 40% ตั้งเป้าปี 2566 เพิ่ม 60% และปี 2567 เพิ่ม 80% ส่วน 20% เป้าหมายตลาดผู้บริโภคภายในประเทศ และการแปรรูป โดย จ.นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดนำร่อง” ผอ.ศวพ. กล่าว

ข้อมูลศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช : สถานการณ์มังคุด ปี 2566 ภาคใต้ตอนบนผลผลิตมังคุดในฤดูและนอกฤดูกาลทั้งหมด 118,073 ตัน เพิ่มขึ้น 367.86% มากที่สุด จ.ชุมพร 53,670 ตัน จ.นครศรีธรรมราช 41,283 ตัน คาดการณ์ผลผลิตเดือนสิงหาคม ประมาณ 21,208 ตัน มากสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช 13,412 ตัน เดือนกันยายน ประมาณ 21,818 ตัน มากสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช 5,281 ตัน

เดือนตุลาคม ประมาณ 735 ตัน การส่งออก 1 ม.ค .- 23 ส.ค. 66 มีการส่งออกมังคุด 2,573 ตู้/ชิปเมนต์ประมาณ 51,400 ตัน โดยส่งออกจากด่านเชียงของมากที่สุด จำนวน 1,792 ตู้/ชิปเมนต์ ประมาณ 35,800 ตัน รองลงมาด่านนครพนม จำนวน 381 ตู้/ชิปเมนต์ ประมาณ 7,610 ตัน

ขอบคุณข้อมูล ประชาชาติธุรกิจ

Related Posts

TikTok เผย ผู้ใช้กว่า 95% มักจะเสียเงินซื้อของผ่านไลฟ์เป็นจำนวนมาก เป็นโอกาสสร้างยอดขายของร้านค้า
‘หาเงินแต่งเมีย’ ร้านเค้กตักที่เริ่มต้นจากความรัก สู่ไวรัลคนแห่ต่อคิว ขายหมด 180 ชิ้น ใน 1 ชั่วโมง
นันยาง
จากวัตถุดิบพื้นถิ่นสู่ร้านมิชลิน ‘เชฟหนุ่ม’ เจ้าของ Samuay & Sons ผู้ปลุกเสน่ห์อาหารอีสานแนวใหม่