เปิด 5 อันดับ ทำเลทอง ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้น นครปฐมคว้าอันดับ 1 แซงกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2567 มีค่าดัชนีเท่ากับ 398.2 จุด เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนการเติบโตของราคาที่ดินเปล่ายังคงมีการปรับตัวขึ้นในทิศทางที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 ปี ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ปี 2558-2562 ที่มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 14.8% ต่อไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.1 % จากไตรมาสก่อนหน้า
นายวิชัย กล่าวว่า ซึ่งราคาที่ดินเปล่าชะลอตัวลงมาจากภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศฟื้นตัวช้ากับปัจจัยลบมาตรการผ่อนปรน LTV หนี้ครัวเรือนที่สูง ดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวในระดับสูงที่ 2.50 % สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมาก ส่งผลความสามารถซื้อที่อยู่อาศัยและขอสินเชื่อของผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการมีความต้องการซื้อที่ดินลดลง เพราะต้องมีต้นทุนการถือครองที่ดินจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งผู้ประกอบการบางส่วนได้ขยายตลาดออกไปยังจังหวัดหลักในภูมิภาคอื่น จึงทำให้อุปสงค์ของที่ดินในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลโดยรวมชะลอตัว
นายวิชัย กล่าวว่า โซนที่มีการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. โซนนครปฐม สูงขึ้น 82.1% 2. โซนกรุงเทพฯ ชั้นใน ประกอบด้วยเขตจตุจักร ห้วยขวาง ยานนาวา วัฒนา คลองเตย พญาไท บางคอแหลม ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางซื่อ ดินแดง ราชเทวี และบางรัก สูงขึ้น 17.8% 3. โซนสมุทรสาคร สูงขึ้น 13.4% 4. โซนตลิ่งชันบางแค ภาษีเจริญ หนองแขม ทวีวัฒนา ธนบุรี คลองสาน บางพลัดบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ สูงขึ้น 13.3% และ 5. โซนเมืองปทุมธานี ลาดหลุมแก้ว สามโคก สูงขึ้น 12.6%
นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับราคาที่ดินในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่านพบว่า 5 อันดับแรกที่เพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (MRT) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) เพิ่มขึ้น 17.8% โดยเขตสาทร พญาไท และดินแดง เป็นบริเวณเพิ่มขึ้นมาก, สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) สายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) และสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) เพิ่มขึ้น 16.7% เขตภาษีเจริญบางพลัด และธนบุรี เป็นบริเวณที่เพิ่มขึ้นมาก, สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มธ.รังสิต) เพิ่มขึ้น 15.6% ลำลูกกา ธัญบุรี และเขตบางเขน เป็นบริเวณที่เพิ่มขึ้นมาก, สายสีลม และสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ) เพิ่มขึ้น 15% เขตภาษีเจริญ ธนบุรี และบางแคเป็นบริเวณที่เพิ่มขึ้นมาก, สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-มหาชัย) เป็นโครงการในอนาคต เพิ่มขึ้น 14.9% เขตเมืองสมุทรสาคร และบางขุนเทียน เป็นบริเวณที่เพิ่มขึ้นมาก