เร่งสร้างภูมิ คนรุ่นใหม่ รู้ทันภัยไซเบอร์ เข้าใจการออม การลงทุน
เกือบ 2 เดือนเต็ม ที่กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ดำเนินโครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาคและบ่มเพาะต้นแบบคนรุ่นใหม่ เข้าสู่ตลาดทุน หรือ Fin Lab ในพื้นที่ 8 จังหวัด 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
เริ่มคิกออฟที่แรก จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ต่อด้วย ลำปาง แม่ฮ่องสอน จันทบุรี ยะลา ภูเก็ต ขอนแก่น และ นครราชสีมา ที่เพิ่งปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา มีเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทะลุหมื่นคน
โครงการคาราวานความรู้สู่ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาค เป็นโครงการที่มีเป้าหมาย มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีสมรรถนะและทักษะด้านการเงินการลงทุน เน้นกลุ่มวัย 13-18 ปี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เพิ่มองค์ความรู้ด้านทักษะทางการเงิน การออม การลงทุน ที่ถูกต้องเหมาะสม
รอยยิ้ม เสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน กับกิจกรรมที่ผู้จัดได้คัดสรรมาให้เยาวชนได้เรียนรู้ เสียงเรียกร้องให้จัดโครงการในลักษณะนี้อีก เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า กิจกรรมการให้ความรู้เรื่อง การออม การลงทุน ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และน่าเบื่อ อีกต่อไป
ทุกคนสามารถเรียนรู้ วางแผนชีวิต ต่อยอดความฝัน เพื่อไปสู่เป้าหมายได้ ทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน การท่องเที่ยว การเป็นเจ้าของกิจการ หรือแม้แต่การรู้เท่าทันมิจฉาชีพ ที่แฝงตัวเข้ามาในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่กำลังเป็นปัญหาของประเทศอยู่ในขณะนี้

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ OKMD ซึ่งเป็นผู้ที่จุดประกายให้เกิดกิจกรรมดีๆ ในครั้งนี้ กล่าวว่า กิจกรรมตลาดนัดความรู้ ช่วยเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการเงินการลงทุนผ่านตลาดทุนให้กับเด็กและเยาวชน หรือที่เราเรียกว่า Fin Lab New Gen เป็นโครงการที่ให้ความรู้กระจายสู่ภูมิภาค โดยเน้นเรื่องการวางแผนทางการเงิน
พยายามที่จะสร้างแรงบันดาลใจ และส่งต่อความรู้ให้กับเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้เยาวชนได้เข้าถึงการเรียนรู้ทางด้านการออมและการลงทุน ผ่านกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้แบบ Active Learning จากองค์ความรู้พื้นฐานด้านทักษะทางการเงิน การออม การลงทุน ต่อยอดสู่ทักษะการเงินการลงทุนในอนาคต
“การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญ เยาวชนต้องมีความรู้ความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจด้วยตนเอง เพื่อให้เขามีรายได้พอที่จะดูแลครอบครัว เหลือจากนั้นก็ออม และเลือกลงทุนได้ และยังมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าการจัดงานตลอดทั้งโครงการ มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมถึง 10,091 คน เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ครั้งแรกคือ 3,500 คน ถือเป็นการจุดประกายการเรียนด้านการออมและการลงทุนของเยาวชนได้อย่างดีเยี่ยม” ดร.ทวารัฐ กล่าว

ด้าน คุณจักรชัย บุญยะวัตร ผู้จัดการกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน กล่าวว่า โครงการนี้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศของตลาดทุนไทย ให้มีประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการพัฒนา แข่งขัน และเติบโตของตลาดทุนไทยได้อย่างยั่งยืนผ่านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุน และการพัฒนาตลาดทุนให้แก่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศ
เนื่องจากขณะนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลง ทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะภาคการเงิน อาทิ หนี้สินภาคครัวเรือนสูงเทียบเท่าประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในอนาคต มีแนวโน้มที่จะขาดความรู้พื้นฐานทางการเงิน การบริหารเงินในโลกยุคใหม่
การใช้จ่ายและการลงทุนที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอ การสร้างภาระหนี้สินโดยไม่จำเป็น อีกทั้งขาดการวางแผนการออมระยะยาวที่ไม่ก่อให้เกิดการลงทุนต่อยอดจากทรัพย์สิน ดังนั้น การพัฒนาทักษะทางการเงินและการวางแผนการเงินจึงเป็นแนวทางสำคัญเพื่อบ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นการพัฒนาทักษะทางการเงินรูปแบบใหม่จึงเป็นแนวทางสำคัญ
สอดคล้องกับ คุณเดือนเพ็ญ จันทร์ศิริศรี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้การเงินขั้นพื้นฐานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มองว่า โครงการดังกล่าว เป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์เชื่อมั่นว่า เยาวชนที่มีความเข้าใจเรื่องการเงินการลงทุนอย่างถูกต้อง จะใช้เงินเป็น หาเงินเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ที่สำคัญ จะสามารถแก้ปัญหาการเงินทั้งของตนเอง และคนรอบข้างได้ด้วย
ดังนั้น เยาวชนที่เข้าใจเรื่องการเงิน การลงทุน ย่อมจะมีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ในปัจจุบัน โลกของการเงินการลงทุนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยวางแผนและตัดสินใจ พร้อมให้หลักคิดในการเสริมทักษะทางการเงินและการลงทุนให้เท่าทันใน 4 รู้คือ รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และรู้ขยายดอกผล จะกลายเป็นนักออม และนักลงทุนที่มีคุณภาพในอนาคต
ขณะที่ คุณเศรษฐพล ธรรมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้กับคนทุกช่วงวัยตลอดมา และโดยเฉพาะวัยเด็ก ถือเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญ ในการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดทุนในอนาคต
ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ฯ เองเชื่อมั่นว่า การที่เด็กๆ สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการเงินการลงทุนและมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เขาสามารถต่อยอดความรู้กับการเรียน อาชีพและการสร้างรายได้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดการวางแผนการเงินและการลงทุนที่เหมาะสมกับช่วงวัย อันนำไปสู่การลดปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้
สำหรับ เสียงสะท้อนเยาวชนหลังเข้ารับการอบรม เริ่มจาก
กรวิชญ์ ระกาสี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎ์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้แบ่งปันประสบการณ์ โดยยอมรับว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมกิจกรรม รู้เรื่องการออมบ้างแต่เรื่องลงทุนไม่เคยรู้ และคิดว่าเป็นความเสี่ยง แต่เมื่อครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน เลยรู้จักเก็บออมเพราะคิดว่าเราจะสามารถมีเงินช่วยแบ่งเบาได้
ส่วนตัวแบ่งเงินที่ได้รับ ออกเป็น 2 ส่วนคือใช้จ่าย และเก็บออม 40% และเมื่อครูบอกว่ามีกิจกรรมเรื่องการลงทุน จึงสนใจเข้าร่วม และได้เรียนรู้ผ่านเกม การวางแผนชีวิตว่า เมื่อเราอยู่มัธยมต้น เราควรทำยังไง มัธยมปลายทำยังไง มหาวิทยาลัยทำยังไง รวมไปถึงเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เราต้องวางแผนชีวิตแบบไหน เรียน ทำงาน เที่ยว
จึงอยากให้มีกิจกรรมดีๆ แบบนี้ และขอเชิญชวนเพื่อนๆ ให้เข้าร่วมเพราะได้ความรู้มาก และทำให้เรามีมุมมองใหม่ว่า การออมการลงทุนเป็นเรื่องใกล้ตัวและมันไม่ยากอย่างที่คิด ที่สำคัญ เราจะรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงด้วย เพราะจากประสบการณ์ตรงจากเพื่อนๆ และคนใกล้ชิด มักถูกหลอกให้ลงทุนโดยอ้างว่าลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่จริง
ขณะที่ ฮุษณา เจ๊ะอามะ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวิทยาการจัดการ สาขาการค้าชายแดนและโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา เล่าถึงประสบการณ์ทางการเงินของตัวเอง โดยส่วนตัวไม่เคยออมเงินเอง ไม่เคยวางแผนหรือจัดตารางการใช้เงิน มีเท่าไหร่ใช้หมด แต่หลังจากที่ได้รับการอบรม ทำให้ได้เรียนรู้การวางแผนค่าใช้จ่าย
ได้รู้ว่าเราจะออมเงินอย่างไรไม่ให้ติดลบ จะใช้จ่ายกับอะไรบ้างเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้กับเงิน เพื่อทำแผนการออมไว้ในอนาคตหลังเรียนจบ ทำให้ชีวิตเรามีเป้าหมายมากขึ้น ที่สำคัญ การอบรมที่นำโทรศัพท์มือถือ หรือไอแพด มาใช้เป็นเครื่องมือ ก็มีส่วนในการดึงดูดเยาวชนให้เข้าร่วมกิจกรรมมาก ทำให้เราได้เข้าถึงการเรียนรู้ว่าการลงทุนประเภทไหนที่มีความเสี่ยง และการลงทุนประเภทไหนที่ปลอดภัย
โดยยกตัวอย่างครอบครัวของเธอ เคยตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสูญเงินจากการดูดเงินในบัญชีไปถึง 50,000 บาท ซึ่งเกิดจากขาดความรู้ความเข้าใจและรู้เท่าทันกลโกง หลังจากนี้เธอก็จะไปถ่ายทอดความรู้ให้กับครอบครัว ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง และการได้เงินมาง่ายจำนวนมากๆ ไม่มี สู้เราเก็บเงินไว้ทำอย่างอื่นดีกว่า
ศุภวิชญ์ พลฤทธิ์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น ได้ให้มุมมองในด้านการเงินไว้อย่างน่าสนใจว่า เด็กทุกคนควรต้องมีความรู้ทางด้านการเงิน เพราะเราต้องใช้เงินกันตั้งแต่เกิด หากได้เรียนรู้เรื่องการออมเงิน ก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีเงินมากมายในการใช้ชีวิต
ส่วนตัวโชคดีที่พ่อให้ความรู้ด้านธุรกิจตั้งแต่เด็ก จึงรับรู้ได้เร็ว จึงอยากแนะนำเพื่อนๆ ว่าเรื่องการออมและการลงทุนไม่ใช่เรื่องไกลตัว หากเราเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ เราจะสามารถวางแผนทางการเงิน เพื่อการออมและการลงทุนอย่างถูกวิธี มีเงินใช้อย่างสบายในอนาคต
ทุกวันนี้ในแต่ละเดือนจะลิสต์ไว้เลยว่า รายรับ รายจ่ายเท่าไร และนำเงินบางส่วนไปลงทุนเท่าไร และการได้เข้าอบรมในครั้งนี้ก็เหมือนการได้ติดอาวุธทางการลงทุนให้มุ่งเป้ามากขึ้น
ขณะที่ รชต แสงลี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ยอมรับว่า ส่วนตัวแทบไม่เคยได้เรียนรู้เรื่องการออมและการลงทุน ด้วยวิถีชีวิตพอเรียนเสร็จก็ซ้อมดนตรี แต่เมื่อมาได้อบรม ทำให้กลับมาตั้งหลักคิดว่า เราควรนำเงินที่ได้รายเดือนจากพ่อแม่ และรายได้จากการรับจ้างเล่นดนตรี มาแบ่งใช้จ่าย เก็บออม และลงทุนอย่างไร และจะเรียนรู้เพิ่มเรื่องการคำนวณภาษี และการลงทุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
…
ทุกเสียงที่สะท้อนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเยาวชนที่เข้ารับการอบรมในโครงการ แต่เสียงที่สะท้อนไปในทางเดียวกันคือ อยากให้จัดกิจกรรมดีๆ อย่างนี้อีก เพื่อเป็นการติดอาวุธทางความคิดด้านการออม การลงทุน และรู้เท่าทันอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งไม่ได้กำหนดอยู่ในวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว เราต้องก้าวให้ทัน