มิจฉาชีพ ไม่แผ่ว ลามร้านสะดวกซื้อ หลอก SMEs อยากมีที่ขายสินค้า
ที่ผ่านมา แม้จะมีการออกมาเตือนภัยจาก “มิจฉาชีพ” ทุกรูปแบบ อยู่เป็นระยะ แต่การ “อาละวาดอย่างหนัก” ของสารพัดแก๊ง ยังสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เรียกว่า ลามไปทุกวงการ กระทั่งชาว SMEs ก็ไม่รอด
ล่าสุด ปรากฏมีเพจปลอม จำนวนมาก ตั้งชื่อให้คล้ายกับบริษัทยักษ์ใหญ่ เจ้าของร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง ก่อนทำแบนเนอร์ ระบุข้อความชักชวนให้บรรดาผู้ประกอบการน้อยใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต้องการนำสินค้ามาจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง โดยระบุทำนองขอแค่มีสินค้า ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งกับร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศได้
เมื่อมีเหยื่อหลงเชื่อ กดไลก์ และคอมเมนต์ว่า สนใจ เพจปลอมดังกล่าว ก็จะทำงานผ่านช่องทาง อินบ็อกซ์ ทันที

ดังตัวอย่าง
เหยื่อ : ขอข้อมูลเพิ่มเติม ค่ะ
เพจปลอม : ขณะนี้ทางบริษัทเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป เป็นส่วนหนึ่งของทาง 7-11 เพื่อผลักดันสินค้าใหม่ๆ เข้ามาให้กับผู้บริโภคได้เลือกซื้อยิ่งขึ้นค่ะ คุณพี่ติดต่อมาเพื่อจะนำสินค้ามานำเสนอขายใน 7-11 ใช่ไหมคะ
เหยื่อ : ใช่ค่ะ
เพจปลอม : ไม่ทราบว่าคุณพี่สะดวกให้ทางฝ่ายบริการแจ้งข้อมูลไหมคะ
เหยื่อ : ส่งมาเลยค่ะ
…
แต่แทนที่เพจปลอมดังกล่าว จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับการนำสินค้าเข้าไปขายใน 7-11 กลับส่ง ลิงก์ไลน์ ที่อ้างว่าเป็นลิงก์ปลอดภัยของทางบริษัท ซึ่งหากเหยื่อ หลงเชื่อแอดไลน์ กลับไป นั่นแปลว่า “ปลาฮุบเหยื่อ” แล้ว
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เคยระบุไว้ว่า ‘มิจฉาชีพ’ มักต้องการให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนไลน์ เพื่อหลอกลวงด้วยการพูดคุยตลอดเวลาให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และทำตามขั้นตอน จากนั้นจะพยายามส่งลิงก์ผ่านไลน์ เพื่อให้ผู้เสียหายกดโหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ โดยมิจฉาชีพจะคอยแนะนำขั้นตอนต่างๆ ทีละขั้นตอน

เนื่องจากการกดยอมรับแอปพลิเคชันให้ควบคุมเครื่องโทรศัพท์นั้น มีขั้นตอนยุ่งยาก ผู้เสียหายไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ต้องทำตามคำแนะนำของคนร้าย และเมื่อผู้เสียหายกดยินยอมขั้นตอนสุดท้ายแล้ว หน้าจอจะมีข้อความเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือข้อความกำลังอัปเดต กรุณารอสักครู่
ช่วงนี้เอง ที่มิจฉาชีพ จะทดลองเข้าแอปพลิเคชันธนาคารจากรหัสที่เราตั้งในแอป หรือจากเบอร์โทรศัพท์ของเรา โอนเงินออกจากบัญชี Mobile Banking ของผู้เสียหาย หากเข้าไม่ได้ก็จะหลอกให้โอนเงินไปลงทะเบียน หรือโอนระหว่างบัญชี ซึ่งคนร้ายจะเห็นว่าเรากดรหัสอะไร
…
พฤติการณ์ของมิจฉาชีพกลุ่มดังกล่าว นับว่าสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แม้ทางบริษัทยักษ์ ที่ถูกแอบอ้างชื่อ จะเคยออกหนังสือชี้แจง และเตือนให้ประชาชนโปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อ และขอให้ติดตามเว็บไซต์ทางการของบริษัทเท่านั้น


แต่ทุกวันนี้ บัญชีปลอมของมิจฉาชีพ ลักษณะดังกล่าว ยังปรากฏอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ แทบจะทุกแพลตฟอร์ม