เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured ข่าววันนี้

ลดหย่อนภาษีง่ายๆ แค่ซื้อให้ถูกประเภท! เปิดลิสต์ ซื้อสินค้าอะไร ช่วยลดหย่อนภาษี ‘Easy E-Receipt 2.0’

ลดหย่อนภาษีง่ายๆ แค่ซื้อให้ถูกประเภท! เปิดลิสต์ ซื้อสินค้าอะไร ช่วยลดหย่อนภาษีมาตรการ ‘Easy E-Receipt 2.0’ 

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 อนุมัติหลักการมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ซึ่งเป็นการขยายผลจากมาตรการเดิม Easy E-Receipt เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในปี 2568

โดย มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 คือมาตรการที่ให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้สูงสุด 50,000 บาท

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ใดถึงได้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้

  1. ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจากผู้มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
  2. หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ถ้า
  • ซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  • ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
  • ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1 รวมถึงค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 2 ด้วย เช่น ซื้อสินค้า OTOP 50,000 บาท สามารถหักลดหย่อนได้ 50,000 บาท

กรณีซื้อสินค้าหรือการรับบริการจากผู้มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถหักลดหย่อนได้เฉพาะกรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการ ดังต่อไปนี้

  1. ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร
  2. ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  3. สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  4. สินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
  5. สินค้าหรือบริการของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

นอกจากนี้ ยังมีค่าต่างๆ ที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ คือ

  1. ค่าซ่อมรถ หากซ่อมและจ่ายค่าซ่อมระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 และได้รับ e-Tax Invoice (ใบกำกับภาษี) 
  2. ค่าซื้อทองรูปพรรณ ได้เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) หากได้รับ e-Tax Invoice

สินค้าและบริการที่ไม่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้

  1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  2. ค่าซื้อยาสูบ
  3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
  4. ค่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และค่าซื้อเรือ
  5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ
  7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว
  9. ค่าที่พักในโรงแรม
  10. ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย
  11. ค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  12. ค่าซื้อทองคำแท่ง เนื่องจากการขายทองคำแท่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
  13. ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าทำศัลยกรรม เนื่องจากการให้บริการของสถานพยาบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
  14. ค่าซื้อบัตรของขวัญ (Gift Voucher) และค่าซื้อบัตรเติมเงิน เนื่องจากการขายบัตรของขวัญหรือบัตรเติมเงินไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่หากนำบัตรของขวัญหรือบัตรเติมเงินไปแลกซื้อสินค้าหรือรับบริการระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งสามารถคำนวณมูลค่าและออก e-Tax Invoice (ใบกำกับภาษี) หรือ e-Receipt (ใบรับ) ได้สามารถหักลดหย่อนตามมูลค่าดังกล่าวได้

ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต้องแจ้งข้อมูลใดให้ผู้ประกอบการใช้ออก e-Tax Invoice (ใบกำกับภาษี) หรือ e-Receipt (ใบรับ)

  1. ชื่อและนามสกุล
  2. ที่อยู่
  3. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน)

เมื่อแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้อมูลการซื้อสินค้าและการรับบริการจะปรากฏใน My Tax Account ของผู้เสียภาษี และสามารถใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2568

หาก e-Tax Invoice มีรายการครบถ้วน แม้จะมีการระบุชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด ก็สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้ ทั้งนี้ ควรตรวจสอบว่าเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการถูกต้องหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลยื่นแบบแสดงรายการภาษี

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ สรรพากร 

Related Posts

จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก รับไม้ต่อในวัย 19 ปั้นแบรนด์อะไหล่รถยนต์ 'NIKOYO Rubber Parts' ที่ส่งออกกว่า 40 ประเทศ ทั้งเอเชีย-อเมริกา