เคยเจ๊งแบบไม่เหลือ เถ้าแก่โรงพิมพ์ สู้ไม่ถอย ก่อนขึ้นแท่น SME ยั่งยืน
เพิ่งได้รับ รางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2023” ไปหมาดๆ สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมหวานวุ้นมะพร้าว “แม่ละมาย” จาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่ละมาย แต่กว่าจะมามีวันนี้ได้ บอกเลยไม่ใช่เรื่องง่าย
คุณวีระ ตั้งวุทฒิไกรวิทย์ เจ้าของกิจการ “แม่ละมาย” ที่หลายคนยกย่องให้เขาเป็นหนึ่งใน “เอสเอ็มอี ไอดอล” ด้วยเหตุผลเป็นคน “เคยล้ม” แต่สามารถ “ลุกขึ้น” ได้อย่างสง่างาม มาจนถึงทุกวันนี้
“กิจการโรงพิมพ์ของผมค่อนข้างไปได้ดี กระทั่งปี 2540 มาเจอวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะกำลังเตรียมขยายงาน เหมือนตึกถล่มลงมาเลย เจ๊งแบบไม่มีอะไรเหลือ ยอมรับว่าหมดตัวจริงๆ” คุณวีระ ย้อนความทรงจำเสียงหม่น
ก่อนเล่าต่อ ช่วงนั้นกลับมาตั้งหลักที่จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านเกิดของภรรยา เพื่อหารือกันจะทำอะไรต่อดี ก่อนตั้งคำถามกับตัวเอง มีความถนัดอะไร ได้คำตอบ มีความถนัดในการทำอาหาร เลยลงทุนใหม่ด้วยการเปิดร้าน “ปิ้งไก่” ขายหน้าบ้าน ริมถนนสายสุพรรณบุรี-ชัยนาท
“เอาถัง 200 ลิตรมาผ่าครึ่งทำเป็นเตา ปิ้งไก่ขาย 2 คนกับแฟน ลูกค้าเยอะนะ บางคนขับรถเบนซ์มาซื้อ หลายคนชมว่ารสชาติดี เลยคิดว่ามาถูกทาง ค้าขายของกินดีกว่า” เจ้าของเรื่องราว เล่า
แต่อาชีพ “ปิ้งไก่” ขายนั้น คุณวีระ ยอมรับว่า ทั้งร้อนและเหนื่อยมาก ประกอบกับคุณแม่ของเขา ไม่อยากให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เลยคิดหันมาทำอาหารประเภทขนม เพราะไม่ต้องใช้เนื้อสัตว์
เริ่มจากการทำมะม่วงแช่อิ่มออกขาย เพราะที่บ้านมีความรู้ในการทำอยู่บ้าง แต่ผลตอบรับไม่ดี จึงลองมาดูสินค้าตัวใหม่ ซึ่งช่วงนั้น “วุ้นน้ำมะพร้าว” กำลังเป็นที่นิยม เลยคิดว่าน่าสนใจ เพราะเป็นวุ้นที่เกิดจากการเพาะเชื้อจากน้ำมะพร้าว มีคุณค่าทางอาหาร มีไฟเบอร์สูง
“พอจะเริ่มต้นใหม่ วางแผนธุรกิจไว้เลยว่า สินค้าของเรา ต้องไม่เหมือนในท้องตลาด ต้องเป็นที่ 1 ให้ได้ ซึ่งในท้องตลาดตอนนั้นมีแบบใส่ถุง-ใส่แก้ว แล้วมีการใส่สีลงไปในตัววุ้น เพื่อดึงดูดคนทาน แต่เราไม่อยากใส่สี จึงใส่ผลไม้และธัญพืชลงไปให้มีความน่าทานมากขึ้น” คุณวีระ เล่า
ตั้งต้นธุรกิจขนมหวาน ซึ่งมีวุ้นน้ำมะพร้าวเป็นส่วนผสมหลัก ด้วยเงินทุน 40,000 บาท มาจาก แม่-พี่-น้อง ช่วยกันลงขันให้ คุณวีระเลยตั้งใจจะบริหารเงินจำนวนดังกล่าวให้ดีที่สุด โดยเริ่มต้นมองหาแหล่งรับซื้อ เริ่มจากมินิมาร์ทในปั๊มน้ำมันละแวกบ้านและจังหวัดใกล้เคียง
ก่อนพุ่งเป้าไปที่แหล่งรับซื้อระดับประเทศ อย่างร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น
“ตอนปี 2542 เซเว่นฯ มีประมาณ 1,000 สาขา มองว่าเยอะแล้ว แต่ดูแนวโน้มน่าจะเติบโตได้อีก เลยเข้าไปเจรจากับทางเซเว่นฯ ขอนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย พอเข้าไปขายได้ หลายคนมาขอคำแนะนำ ต้องทำยังไงบ้าง บางคนโทรศัพท์มาหา บางคนเดินทางมาถึงโรงงานที่สุพรรณฯ ก็มี” คุณวีระ เล่ายิ้มๆ
โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขาย 300 ล้านบาท เติบโต 20-40% จากปีก่อนที่มีรายได้ 150 ล้านบาท
พร้อมเผยข้อมูลที่หลายคนอยากรู้ ให้ฟังแบบตรงไปตรงมา เจ้าของสินค้า ต้องมีการเตรียมตัวที่ดี เซเว่นฯ เปรียบกับเวทีมวยแล้วก็ระดับราชดำเนิน ลุมพินี ที่มีมาตรฐาน เราเองก่อนจะขึ้นชกเวทีนี้ได้ ต้องผ่านกฎเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ก่อน เตรียมตัวไปก่อน ไม่ใช่เป็นมวยวัดแล้วไปขอชกเวทีราชดำเนิน เขาคงไม่ให้ขึ้นชก การเตรียมตัวภายนอกคือ หนึ่ง ตัวสินค้าต้องอร่อย หรือมีจุดเด่นที่แตกต่างจากท้องตลาด มีความน่าสนใจ และการเตรียมตัวภายใน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการ ระบบ มาตรฐานต่างๆ ต้องพร้อม
“ถ้าผู้ประกอบการคนใดสนใจอยากนำสินค้าเข้าไปขายเซเว่นฯ ต้องเข้าใจก่อนว่าเขามีการทำงานกันอย่างเป็นระบบมาก ถ้าทำไม่ได้ตามระบบของเขาจริงๆ สินค้าจะเกิดปัญหาทันที แต่ถ้าสินค้าไม่มีปัญหา ยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน และต้องบอกให้ทราบทั่วกันด้วยว่าเซเว่นฯ ไม่มีใต้โต๊ะ ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างโปร่งใส” คุณวีระ ย้ำหนักแน่น