เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Exclusive Featured ข่าววันนี้

SMEs สู้ลำพัง สูญพันธุ์แน่!?! เมื่อ รัฐไทย (ยัง) ไร้กำแพงชะลอ “คลื่นจีน”

SMEs สู้ลำพัง สูญพันธุ์แน่!?! เมื่อ รัฐไทย (ยัง) ไร้กำแพงชะลอ “คลื่นจีน”

การ “อพยพ” เข้ามาแผ่นดินสยาม ของ “คนจีน” พบหลักฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่สำหรับการ “อพยพใหม่” ของคนจีนห้วงศตวรรษที่ 21 นั้น นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่าง รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ชี้ว่า มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกขณะ ถ้าไทย ไม่หาทางตั้งรับไว้แต่เนิ่นๆ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ พร้อมยกตัวอย่าง การค้าขายย่านพาหุรัด ทุกวันนี้ มีคนจีน “อพยพใหม่” เข้ามาเซ้งร้านจากคนไทย และนำสินค้าจีนเข้ามาขายในราคาที่ถูกกว่ามาก ทำให้ร้านคนไทยขาดทุนกันระนาว

จนมาถึงปัจจุบัน การ “อพยพใหม่” ในนามของ “ทุนจีน” ได้ทยอยเข้าไทยมาเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็น ร้านไอศกรีม-เครื่องดื่ม อย่าง Mixue ที่มาบุกตลาดด้วยราคา “ขายถูก” จนน่าตกใจ หรืออย่างร้าน Zhengxin Chicken Steak ไก่ทอดที่ราคาเริ่มต้นเพียง 15 บาท

ตัวอย่างการ “ซัด” เข้ามาของแฟรนไชส์สัญชาติจีน ดังกล่าว นับเป็นปรากฏการณ์สร้างความระส่ำระสาย ให้กับบรรดาแฟรนไชส์ไทยไม่น้อย ซึ่งกูรูในแวดวง อย่าง อมร อำไพรุ่งเรือง วิเคราะห์ว่า ผู้ประกอบการผู้ขายแฟรนไชส์ หรือ “แฟรนไชซอร์ – Franchisor” ของไทย ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มขายแฟรนไชส์ในธุรกิจเดียวกับที่เข้ามา เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม ไอศกรีม ชานมไข่มุก

กล่าวคือ ก่อนหน้าที่ “คลื่นจีน” ลูกนี้จะ “ซัด” เข้ามา อาจเห็นแฟรนไชส์ชานมไข่มุกแบรนด์ไทย ขายราคาเริ่มต้น 19 บาท ส่วนงบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท พอแฟรนไชส์จีน มาใช้ “กลยุทธ์ราคา” ขายถูกกว่า ไอศกรีมราคาเริ่มต้น 15 บาท ราคาลงทุนแฟรนไชส์เริ่มต้นที่ 7 แสนบาท ย่อมทำให้ผู้บริโภคแห่ไปกิน ส่วนนักลงทุนไทยก็แห่ไปซื้อแฟรนไชส์แบรนด์จีนกันหมด

อีกหนึ่งตัวอย่างของการเข้ามาของทุนจีน ที่สร้างความวิตกได้ไม่น้อย น่าจะเป็น TEMU ธุรกิจอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีน ที่เน้น “ขายถูก” จนผู้บริโภคหวั่นไหวมาแล้วทั่วโลก โดยทัศนะของนักการตลาด อย่าง พลชัย เพชรปลอด มองว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบรนด์จีนนี้ กำลังสร้าง “ฝันร้าย” ให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย จำนวนมาก เพราะแม้จะมีความเชื่อกันว่าของดีราคาถูกไม่มีจริงในโลก และสินค้าจีนมีคุณภาพด้อย แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ เรื่องราคา ย่อมเป็นสิ่งเร้าใจผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เขาจึงเรียกร้องให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้ามาปกป้อง SMEs ไทย ด้วยมาตรการทางใดทางหนึ่ง ก่อนที่การแข่งขันระหว่าง “คนตัวเล็ก” กับ “ทุนใหญ่” จะสร้างผลกระทบขยายเป็นวงกว้างกว่านี้

และนับวันกระแสเรียกร้องให้ “รัฐ” เข้ามาช่วยเหลือบรรดา SMEs มีมากขึ้นทุกขณะ

โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของปี 2567 มีปัจจัยเสี่ยงหลายส่วน โดยเฉพาะกรณีที่จีน ยังคงระดับการผลิตสินค้าเพื่อรักษาระดับการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้อุปสงค์ในประเทศชะลอและเผชิญสงครามการค้ากับชาติตะวันตก ซึ่งที่จริง จีนน่าจะผลิตลดลง แต่กลับนำผลผลิตส่วนเกินมาระบายในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะไทย หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่อง ภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะโรงงานในกลุ่ม SMEs ที่ขาดความสามารถในการแข่งขันอาจต้องปิดตัวลง จนกระทบการจ้างงานและการบริโภคของคนไทยอีกทอดหนึ่ง จึงหวังว่ารัฐบาลไทย จะมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา และเร่งให้ SMEs ไทย ปรับตัวได้ในไม่ช้า

ส่วน ดร.พัชรพล สุทธิธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเรียล พลัส (ประเทศไทย) จำกัด ธุรกิจโรงงานระดับ SMEs รับผลิตเครื่องสำอางและอาหารเสริม ได้เรียกร้องให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการ “สู้” กับ “ทุนจีน” เช่น ให้ความรู้ผู้ประกอบการเรื่องการสร้างแบรนดิ้ง พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้แพ็กเกจจิ้งสวยงาม เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติให้ได้ ช่วยในเรื่องของการจับคู่ทางธุรกิจ โดยพาผู้ประกอบการ SMEs ไปเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้กระจายสินค้าในต่างประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการ “ตรวจนโยบาย” ของ “รัฐบาลแพทองธาร” พบว่า มีการให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SMEs เป็นอันดับต้นๆ ทั้งยังจัดเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และถูกบรรจุอยู่ในนโยบายลำดับที่ 2 จาก 10 ลำดับ

โดยระบุว่า รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

หากแต่ความเห็นจากฟากนักวิชาการด้านไทย-จีน อย่าง ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อินทร์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายในการรับมือกับทุนจีนที่เข้ามาในเชิงโครงสร้าง แต่มองแค่ “เม็ดเงิน” ที่จะเข้ามา เท่าที่ปรากฏมีแค่ “รถไฟความเร็วสูง” โครงการเดียว ที่รัฐบาลไทย ให้เข้ามาลงทุนแล้วมีกติกากำหนดว่าจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยด้วย

“รัฐบาลไทย คงไปหยุดเงินลงทุนที่จะเข้ามาประเทศไม่ได้ แต่สามารถตีกรอบได้ว่าต้องการเม็ดเงินจากโครงการไหน เพราะด้านหนึ่งต้องดูแล SMEs ของเราไม่ให้ตายเพราะสู้ทุนใหญ่ไม่ไหวด้วย คือต้องมีการกำหนดกติกาบางอย่าง เช่น อุตสาหกรรมประเภทไหนพอก่อน อุตสาหกรรมอะไรที่ต้อนรับ อย่าง รถอีวี  เราไม่มี เราต้อนรับ แต่แค่ต้อนรับไม่พอ ต้องให้เขามาถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเดิมของไทยด้วย เช่น ถ้าเป็นอุตสาหกรรมเหล็กก็มาจับมือกับผู้ประกอบการเหล็กบ้านเรา ก่อนส่งออกไปด้วยกัน แบบนี้ถึงจะเรียกว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน อย่ามาแค่ใช้บ้านเราเป็นฐานผลิตแล้วส่งไปทั่วโลก” นักวิชาการท่านเดิม ระบุอย่างนั้น

ก่อนเสนออีกว่า ภาครัฐ ควรมีการตั้งเงื่อนไขสำหรับ “ทุนจีน” ที่อยากเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยกำหนดให้ภาคธุรกิจของจีนนั้นมอบ “ทุนวิจัย” ให้กับสถาบันการศึกษารัฐหรือเอกชน สำหรับใช้ในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยยังไม่มีหรือยังไม่มีความเชี่ยวชาญ หากทำได้เช่นนี้ ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมนั้น จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งในแง่ขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและเม็ดเงิน

“นอกจากคำว่า นโยบาย อยากเห็นมาตรการ วิธีปฏิบัติ และลงมือทำร่วมกันอย่างรวดเร็ว” คืออีกหนึ่งเสียงสะท้อน ที่มาจากตัวแทนชาว SMEs อย่าง แสงชัย ธีรกุลวาณิช ในฐานะประธานสมาพันธ์ SME ไทย

และท่ามกลางสถานการณ์ความยากลำบากในหลายด้าน เขาจึงเรียกร้อง ไปยัง “รัฐบาลแพทองธาร” โดยระบุ ชาว SMEs ยังมีความต้องการเร่งด่วน 6 ประเด็น นอกเหนือไปจากแนวทางรับมือกับการ “ซัด” เข้ามาของ “คลื่นจีน”

หนึ่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ เพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังมองไม่เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน นอกเหนือจากเงิน 10,000 บาทที่แจกไป ชาว SMEs อยากเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดระบบการส่งเสริม และมีฐานข้อมูลในการที่จะรองรับการพัฒนาต่อไปในอนาคต อยากเห็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นที่จะทำให้จังหวัดรอง หรือจังหวัดที่มี GDP ต่ำ มีการปรับตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

สอง มาตรการลดต้นทุนและค่าครองชีพ ให้กับ SMEs เพราะทุกวันนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์ของต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น จึงอยากเห็นความคืบหน้าการแก้ปัญหานี้อย่างรวดเร็ว

สาม ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ ให้กับ SMEs และการแก้หนี้ทั้งระบบ ที่ผ่านมาเห็นรัฐบาลพยายามทำอยู่เหมือนกัน แต่อาจต้องปรับวิธีคิด ปรับวิธีการทำงาน ให้ลดความเหลื่อมล้ำ และให้ความเป็นธรรมในเรื่องดอกเบี้ย โดยต้องมีกลไกในการที่จะทำให้กลไกดอกเบี้ยต่างๆ ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

สี่ ยกระดับขีดความสามารถของ SMEs และแรงงาน มีกลไกพัฒนาการเรียนรู้ของ SMEs ต่อเนื่องทุกช่วงวัย ต้องมี “ทางเข้า” ที่ชัดเจน และสื่อสารออกไปเป็นวงกว้าง

ห้า ทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ชาว SMEs อยากเห็นความคืบหน้า การแก้ไข และมีการสื่อสาร สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

และ หก มาตรการดูแล SMEs จากทุนข้ามชาติ

“ยอมรับว่าชาว SMEs มีความหวังกันมาก เพราะรัฐบาลชุดนี้ มาจากกระบวนการทางประชาธิปไตย อีกทั้ง รัฐมนตรีหลายท่านหรือแม้แต่ตัวท่านนายกฯ เอง ก็เป็นผู้ประกอบการ ฉะนั้น น่าจะมีความรู้ ความเข้าใจหัวอกผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ พวกเราคาดว่าสิ่งที่เป็นความเข้าใจ เป็นประสบการณ์ และความเป็นมืออาชีพของรัฐบาล จะสามารถแก้ปัญหาให้กับชาว SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว” ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ระบุจริงจัง

…..

การช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ไม่ล้มหายตายจาก เพราะสู้กับ “ทุนใหญ่” ไม่ไหว

และต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ มีความสามารถแข่งขันได้ไม่อายใคร แบบที่เคยบอกไว้

คนไทยทุกคน ต้อง “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี”

นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย ท่านนี้ คงต้องเร่ง “พิสูจน์คำพูดด้วยการกระทำ” เสียที!

Related Posts

เปิดจักรวาล Karun! ปั้นแบรนด์น้องใหม่ เจริญสังขยา, Summer Bowl และ Avery Wong ปี 66 รายได้รวม 100 ล้านบาท  
เปิดเทรนด์ผู้บริโภคยุคนี้ ไม่เน้นถูกสุด แต่ต้อง ‘คุ้มสุด’