เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
Featured ข่าววันนี้

บูรณาการองค์ความรู้ ป้องกัน “อาชญากรรม” อีกหนึ่งบทบาท มหาวิทยาลัยไทย

บูรณาการองค์ความรู้ ป้องกัน “อาชญากรรม” อีกหนึ่งบทบาท มหาวิทยาลัยไทย

ผศ.ดร.อารณีย์ วิวัฒนาภรณ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม  มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัวแตกแยก ความยากจน ยาเสพติด และอาชญากรรม ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในสังคม

นอกจากนี้ พบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหาอาชญากรรมบนโลกออนไลน์มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าสังคมจะมีความเจริญเติบโตก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถควบคุมปัญหาอาชญากรรมให้ลดลงจากสังคมไทย

จึงแสดงให้เห็นว่าปัญหาอาชญากรรมเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งต่อตัวประชาชนในสังคมโดยตรงในฐานะผู้เสียหาย และโดยรวมคือสังคมเกิดความไม่สงบ ไม่ปลอดภัย เกิดความวุ่นวาย ก่อให้เกิดความกลัวอาชญากรรมในสังคมนั้นๆ รวมถึงสังคมไทย

ผศ.ดร.อารณีย์ วิวัฒนาภรณ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมและความสงบเรียบร้อยของสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นกฎเกณฑ์เป็นกระบวนการที่นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายและเป็นกระบวนการที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลย นั่นหมายความว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นกระบวนการที่มีความเชื่อมต่อกันโดยมีขั้นตอนตามที่กฎหมายกําหนดไว้

ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน โดยมีภารกิจและหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นการป้องกันอาชญากรรม การสอบสวน ฟ้องร้อง การพิจารณาคดี หรือแม้กระทั่งการแก้ไขบําบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิด แต่ทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม

คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เล็งเห็นถึงความสำคัญของหลักสูตรอาชญาวิทยาและงานยุติธรรมว่า มีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากการเรียนในหลักสูตรนี้นักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ในรูปแบบสหวิทยาการที่อาศัยศาสตร์จากหลายสาขาทั้งในด้านสังคมวิทยา จิตวิทยา กฎหมาย การเมืองการปกครอง เศรษฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และการสื่อสารมวลชน มาอธิบายอาชญากรรมและพฤติกรรมของอาชญากร เพื่อใช้ในการควบคุม ป้องกัน บำบัดและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่มีความรุนแรง และซับซ้อนมากขึ้น

โดยถ่ายทอดความรู้บนพื้นฐานของแนวคิด ฐานคติ ทฤษฎี ผ่านระบบกระบวนการคิด วิเคราะห์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อน ผลักดันให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ อันจะนำไปสู่การกำหนดทิศทาง วิธีการ และมาตรการของการแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักหรือกระบวนการยุติธรรมแบบฟ้องร้อง และกระบวนการยุติธรรมทางเลือก เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของคุณธรรม และจริยธรรม อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เป็นประโยชน์ต่อบุคลากร หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน

ภายหลังสำเร็จการศึกษาผู้เรียนสามารถนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติงานกับหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นต้น

นอกจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแล้ว นักศึกษายังสามารถไปปฏิบัติงานกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะหน่วยงานภาคเอกชนทุกๆ องค์กรจะมีหน่วยงานด้านการวางแผนระบบความปลอดภัย ซึ่งนักศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ด้านอาชญาวิทยาไปวางแผนการป้องกันอาชญากรรม และหรือวางแผนกระบวนการสืบสวน สอบสวน เพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานได้

ตลอดจนนักศึกษา สามารถเสนอความคิดเห็นประกอบนโยบายและแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีทัศนคติที่ดีต่องานยุติธรรม อีกทั้งมีทักษะการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด การเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม ผ่านกระบวนการวิเคราะห์หลากหลายมิติรอบด้าน

Related Posts

80 ยังแจ๋ว "ป้าตุ่น" ครีเอเตอร์รุ่นใหญ่ ไม่หยุดเรียนรู้ โชว์ทำขนมบนโซเชียล เป็นขวัญใจคนทุกเจน
จากปัญหาของเล่นล้นบ้าน สู่ Keimen Kids ธุรกิจเช่าของเล่นที่อยากช่วยเซฟโลก เซฟเงินในกระเป๋าพ่อแม่