‘เชฟ กระทะฮ้าง’ จากเส้นทางบ้านๆ สู่ภาษีหลักแสน ดราม่าที่ถูกพูดถึงทั้งโซเชียล!
นาทีนี้ ชื่อของ ‘เชฟ กระทะฮ้าง’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง จากเรื่อง ‘ภาษี’
เชฟ กระทะฮ้าง หรือ นายสมบูญ วรรณวงศ์ วัย 50 ปี สั่งสมประสบการณ์การเป็นเชฟในโรงแรมมายาวนานกว่า 30 ปี ก่อนกลับบ้านเกิดจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว และได้เริ่มทำคอนเทนต์ ทำอาหารสไตล์บ้านๆ ให้ทุกคนได้ชมบนเพจ ‘เชฟ กระทะฮ้าง’ โดยใช้โทรศัพท์มือสอง เครื่องละ 2,000 บาทในการถ่ายคลิป
เสน่ห์ของ เชฟ กระทะฮ้าง ที่ทำให้ผู้ชมติดใจ คือการทำเมนูอาหารหลากหลาย การใช้วัตถุดิบท้องถิ่น การใช้เตาฟืน การโยนกระทะ รวมถึงความเป็นธรรมชาติของวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่มีลูกหลาน และภรรยามาร่วมสร้างสีสัน จนทำให้มีผู้เข้าชมคลิปหลายล้านวิว และสร้างรายได้มากมาย จนหลายคนเอ่ยปากชม
แต่ก็เกิดเป็นเรื่องดราม่าขึ้น เมื่อ เชฟ กระทะฮ้าง โพสต์ลงในเพจว่า เจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า ต้องเสียภาษี 200,000 บาท
และโพสต์อีกว่า ‘ทำคลิปแบบบ้านๆ สู้มากับลูกเมีย พอวันหนึ่งมีรายได้ก็ต้องจ่ายภาษีตามรายได้ที่มี อันนี้ไม่ติดใจ (ที่ติดใจ ตอนผมลำบาก พวกคุณไปอยู่ไหนมา)’

อย่างไรก็ตาม การเสียภาษี เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีรายได้ แต่จะเสียมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานรายได้
โดยปัจจุบันมีหลายคนผันตัวเองมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์, อินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์ ซึ่งนับเป็นรายได้ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น
- ส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากการนำโฆษณามาวางในช่องของตนเอง
- รายได้จากจำนวนคนเข้าชมคลิป หรือการทำระบบสมาชิก
- การรับจ้างรีวิวสินค้าหรือบริการ
- รับจ้างโชว์ตัวตามงานอีเวนต์ต่างๆ
- รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการของตนเอง หรือสิ่งของซื้อมาขายไปต่างๆ
ซึ่งหากทำควบคู่กับงานประจำ ก็ต้องนำรายได้ทั้งหมดมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีด้วย
1. รายได้จากส่วนแบ่งค่าโฆษณา
ไม่ว่าจะเป็น จำนวนคนเข้าชมคลิป หรือระบบสมาชิกภายในช่องของตัวเอง ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือมาตรา 40(8)
2. รายได้จากการรับจ้างรีวิวสินค้าหรือบริการ แบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ
- อินฟลูเอนเซอร์ ที่ทำทุกอย่างคนเดียว ไม่มีออฟฟิศ ไม่มีลูกจ้างหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 หรือ มาตรา 40(2) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
- อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีรายได้และมีรายจ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้าง, ค่าจ้างตากล้อง, ช่างแต่งหน้า ทำผม ค่าสถานที่ในกรณีที่ต้องถ่ายรีวิวสินค้า ฯลฯ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริง และจะต้องใช้หลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อแสดงตอนยื่นภาษีให้ครบด้วย
3. รายได้จากรับจ้างโชว์ตัวตามงานอีเวนต์ต่างๆ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
- อินฟลูเอนเซอร์ ที่ทำทุกอย่างคนเดียว ไม่มีสำนักงาน ไม่มีลูกจ้างหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 หรือ มาตรา 40(2) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท
- อินฟลูเอนเซอร์ ที่มีรายได้และมีรายจ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูกจ้าง, ค่าจ้างตากล้อง, ช่างแต่งหน้า ทำผม ค่าสถานที่ในกรณีที่ต้องถ่ายรีวิวสินค้า ฯลฯ ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริง และจะต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อแสดงตอนยื่นภาษีให้ครบด้วย
ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้กำหนดขอบเขตของการโชว์ตัวที่เข้าข่ายเป็น เงินได้ประเภท 8 ไว้ว่า ต้องอยู่ในลักษณะของ การแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงอื่นๆ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาๆ ได้ดังนี้
(ก) เงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท 60%
(ข) เงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท 40%
โดยการหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท
4. รายได้จากการขายสินค้า / บริการของตนเอง หรือสิ่งของซื้อมาขายไปต่างๆ
ในกรณีที่คุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีรายได้จากการขายสินค้า (ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการแบรนด์ตัวเอง หรือสิ่งของที่ซื้อมาขายไป) กรมสรรพากรถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ มาตรา 40(8) สามารถยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้ประจำปี โดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมา 60% และต้องมีหลักฐานค่าใช้จ่ายต่างๆ แสดงตอนยื่นภาษีให้ครบด้วย
เป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ มีรายได้หลายทาง คำนวณภาษีอย่างไร
แน่นอนว่าการมีรายได้เข้ามามากกว่า 1 ช่องทาง ส่งผลให้การคำนวณภาษีมีความซับซ้อนกว่าพนักงานประจำที่มีรายได้ช่องทางเดียว ซึ่งกรมสรรพากรได้กำหนดการคำนวณภาษีไว้ 2 วิธี คือ
1. คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ
“เงินได้ (รายได้ที่ได้รับตลอดทั้งปีภาษี (1 มกราคม – 31 ธันวาคม)) – ค่าใช้จ่ายส่วนตัว (100,000 บาท) – ค่าลดหย่อนส่วนตัว (60,000 บาท) = เงินได้สุทธิ (ยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรก) x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (5%-35%) = ภาษีที่ต้องจ่าย”
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท อัตราเสียภาษี ได้รับการยกเว้น
เงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 บาท อัตราเสียภาษี 5%
เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท อัตราเสียภาษี 10%
เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท อัตราเสียภาษี 15%
เงินได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 บาท อัตราเสียภาษี 20%
เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท อัตราเสียภาษี 25%
เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท อัตราเสียภาษี 30%
เงินได้สุทธิ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราเสียภาษี 35%
2. คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน
จำนวนภาษี = เงินได้พึงประเมิน (รายได้ทุกช่องทาง) x 0.5%
เงินได้ประเภทที่ 2 – 8 ตั้งแต่ 120,000 บาท
กรณีคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วมีภาษีชำระไม่เกิน 5,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษีจากการคำนวณตามวิธีที่ 2 (แต่ยังต้องเสียภาษีตามวิธีที่ 1)
สำหรับยูทูบเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ยังสับสนอยู่ว่า เราควรเลือกคำนวณภาษีแบบไหน ถึงจะรู้ว่าเราจ่ายภาษีถูกต้อง คู่มือของกรมสรรพากร ระบุไว้ว่า ให้ทำการเปรียบเทียบจำนวนภาษีตามวิธีที่ 1 และ 2 ที่กล่าวมาข้างต้น และเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า
- ถ้าเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ต้องคำนวณภาษี
- ถ้าคำนวณแล้วภาษีไม่เกิน 5,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีวิธีที่ 2
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9680000025385
https://www.cimbthaionlinecampaign.com/blog/a-tax-guide-for-social-media-influencers.html