หมาแมวครองพื้นที่! ตลาดสัตว์เลี้ยงในไทยโตไม่หยุด โดยเฉพาะ ‘ธุรกิจอาหารสัตว์’ ที่แข่งขันกันดุเดือด มีทาสแมวเพิ่มขึ้น 28% นิยมเลี้ยงเพื่อฮีลใจ ดูแลเหมือนสมาชิกในครอบครัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2568 ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่ที่ประมาณ 3.98 แสนตัน ขยายตัว 6% จากปีก่อน ตามจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น
จำนวนสัตว์เลี้ยงของไทยยังมีแนวโน้มเติบโต โดยในปี 2568 คาดว่า สัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของมีอยู่ราว 5.38 ล้านตัว เพิ่มขึ้นราว 6% แบ่งเป็นสุนัข 3.45 ล้านตัว แมว 1.94 ล้านตัว ส่งผลให้ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงกว่า 76% จะอยู่ในกลุ่มอาหารสุนัข
แต่ในอนาคต คาดว่า สัดส่วนยอดขายอาหารแมวน่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมเลี้ยงแมวที่มีมากขึ้น สะท้อนได้จาก ในช่วงปี 2564-2567 จำนวนแมวที่เลี้ยงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 28% ต่อปี เทียบกับอัตราการเติบโตของสุนัขเลี้ยงที่ 19% ต่อปี
โดย กรุงเทพฯ และปริมณฑล นับเป็นพื้นที่ศักยภาพของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากมีจำนวนสัตว์เลี้ยงมากที่สุดและผู้เลี้ยงมีกำลังซื้อ ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงอยู่ราว 3.1 แสนตัว คิดเป็น 6% ของจำนวนสัตว์เลี้ยงทั้งหมด และมีรายได้เฉลี่ยที่ 35,901 บาท/เดือน ซึ่งสูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศที่ 29,030 บาท/เดือน
จึงคาดว่า มูลค่าตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศจะอยู่ที่ 46,000 ล้านบาท ในปี 2568 ขยายตัว 12% จากปีก่อน และกำไรของธุรกิจคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้น สอดคล้องไปกับยอดขายที่โตต่อเนื่อง
การแข่งขันของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศ
ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศแข่งขันรุนแรง จากจำนวนผู้เล่นในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการนำอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้ามาแข่งขันมากขึ้นด้วย
ในปี 2567 ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีอยู่ 317 ราย โดยมีจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 36 ราย นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการนอกธุรกิจอื่นๆ อาทิ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอที ฯลฯ ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นด้วย
และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับอาหารสัตว์เลี้ยงนำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน ที่เป็นอันดับ 1
แนวโน้มการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทย
การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยยังเติบโตโดดเด่น โดยมีปัจจัยมาจากพฤติกรรมนิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนสมาชิกในครอบครัว (Pet Humanization) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทั้งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและสภาพสังคมที่มีขนาดครอบครัวเล็กลง เช่น
สหรัฐฯ รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรสูงราว 85,373 เหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีจำนวนสัตว์เลี้ยงในประเทศสูงถึง 144 ล้านตัว สะท้อนถึงมีกำลังซื้อที่พร้อมจะจ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยง
ญี่ปุ่น มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป อยู่เกือบ 30% ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังมักเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อน
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นิยมเลี้ยงสัตว์มากขึ้นเพื่อเติมเต็มความสุข โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมมีบุตรช้าหรือไม่แต่งงาน
ในปี 2568 คาดว่า ไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงราว 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 15% ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 28.4%
คาดว่าเป็นผลมาจากความต้องการของตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ อิตาลี ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 50% โตช้าลง อย่างไรก็ดี ยังมีตลาดที่มีศักยภาพอื่นๆ เช่น อังกฤษ ที่จำนวนสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นมากกว่า 3.2 ล้านตัว หลังช่วงโควิด-19 หรือนิวซีแลนด์ จากผลข้อตกลงทางการค้า FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ที่ทำให้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง จึงทำให้ยอดการส่งออกไปยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
การแข่งขันของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดส่งออก
การแข่งขันในตลาดส่งออกยังคงมีแนวโน้มรุนแรง โดยเฉพาะกับคู่แข่งที่ได้เปรียบด้านราคาและระยะขนส่งที่ใกล้กับตลาดคู่ค้าสำคัญ
ไทยเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ ไทยต้องเจอคู่แข่งที่สำคัญอย่าง เม็กซิโก ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องระยะขนส่งที่ใกล้ หรือญี่ปุ่น ที่ไทยต้องแข่งกับเกาหลีใต้ ซึ่งได้เปรียบด้านราคา สะท้อนได้จากส่วนแบ่งตลาดของเกาหลีใต้ที่ส่งไปญี่ปุ่นปี 2567 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 2564
ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงไทย
ต้นทุนการผลิตยังคงผันผวน โดยเฉพาะวัตถุดิบ อาทิ ปลาทูน่า ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 60% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ผลผลิตลดลง
มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการทางการค้าอื่นๆ ส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทย ไม่ว่าจะเป็น มาตรการ Farm to Fork ที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยคาร์บอน และการตรวจสอบย้อนกลับ
รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป ที่อาจขยายขอบเขตมายังภาคเกษตรและอาหารในการเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือต้องเป็นไปตามแนวทางการทำธุรกิจแบบยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (อาทิ ปลาป่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ