ปลดล็อกกฎหมาย โฆษณาเครื่องดื่มแอลฯ คราฟต์เบียร์ สุราชุมชน มีหวังลืมตาอ้าปาก?!?
ท่ามกลางข่าวสภาผู้แทนราษฎร ปลดล็อกกฎหมายให้สามารถประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยการประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเสียง 365 ต่อ 0 เสียง
โดยการอนุมัติครั้งนี้ถือเป็นการปลดล็อกให้สามารถประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการถ่ายรูปกับผลิตภัณฑ์เหล้าและเบียร์โดยไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องร้อง ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย คราฟต์เบียร์ สุราชุมชน มีโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นนั้น
อีกฟากหนึ่ง มีการเสวนาหัวข้อ ทำการตลาดแอลกอฮอล์ยังไง? เมื่อกฎหมายห้ามโฆษณา ในงาน DAMN Expo 2025 ที่ห้อง MCC Hall เดอะมอลล์ บางกะปิ ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประกอบด้วย
คุณส้ม-สีตลา ชาญวิเศษ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและการตลาดที่จัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ไทยหลากหลายแบรนด์อย่าง บริษัท Group B Beer และเจ้าของแบรนด์คราฟต์เบียร์ Motto Beer
คุณจิ๋ว-สราวุธ ประสิทธิ์ส่งเสริม เจ้าของแบรนด์คราฟต์เบียร์ Callmepapa Brewhouse ที่เริ่มทำเบียร์เป็นงานอดิเรกในช่วงกักตัว จนได้ลาออกจากงาน IT มาทำโรงเบียร์ที่ได้ชื่อมาจากการอยากให้ลูกเรียกว่า ‘ปะป๊า’
และ คุณเบน-ชลัช ว่องสิริชนม์ เจ้าของแบรนด์คราฟต์เบียร์ Vana Brewing ที่เริ่มด้วยการนำเข้าคราฟต์เบียร์จากต่างประเทศและเปิดการประกวดเบียร์ และได้เริ่มย้ายมาผลิตสูตรเบียร์เองใน The Brewing Project
โดยวิทยากรทั้ง 3 ท่าน ได้ร่วมกันเสนอแนวทางทำการตลาดสินค้าเครื่องดื่มคราฟต์เบียร์ ขณะที่กฎหมายยังห้ามการโฆษณาทุกช่องทาง สามารถสรุปเป็น “กุญแจ” สำคัญได้ดังนี้
สร้าง Community Base Marketing และการบอกปากต่อปาก
จากเดิมที่ธุรกิจทำเบียร์นั้นค่อนข้างยาก มีข้อจำกัดสูง และมีกฎหมายที่ห้ามโฆษณา การตลาด WOM นั้นเกิดขึ้นผ่านการบอกปากต่อปากในคอมมูนิตี้ นัดมาแชร์เบียร์กัน
มีกิจกรรมและให้ความรู้ผู้บริโภค
เข้าสู่ช่วงที่การตลาดในออนไลน์เริ่มเข้มงวด กวดขัน เพียงแค่รีวิวก็โดนแจ้ง ม.32 กันมาก ทำให้การตลาดไปโฟกัสที่หน้าร้านมากขึ้น เน้นทำกิจกรรมที่ทำให้คอมมูนิตี้ที่มีคุณภาพโตขึ้น ทำให้คนรู้ว่าเบียร์ที่ดีและไม่ดีเป็นยังไง
หน้าร้านต้องเยอะและต้องเชียร์
ถ้ามีหน้าร้าน Outlet หรือออกบูธ ออกอีเวนต์ให้เยอะๆ ประกอบกับคนที่ช่วยเชียร์ อธิบายเบียร์ จะช่วยให้ของขายออกไปได้ดี
ทำ Product คาแร็กเตอร์ดีและมีแบรนด์
เบียร์ที่มีแบรนด์ มีคาแร็กเตอร์ทั้งรูปลักษณ์และรสชาติที่ชัดเจนมักจะไปได้ดี เพราะจะเกิดภาพจำ ต้องสื่อสารจุดขายได้ และทำสม่ำเสมอ เช่น ผีบอก ชื่อจำง่าย ภาพลักษณ์ชัด มีเอกลักษณ์แน่น บอกต่อได้ง่าย
นอกจากนี้ ทั้ง 3 วิทยากร ได้ร่วมกันให้ข้อมูลสรุปด้วยว่า แม้เศรษฐกิจจะขาลง ตลาดคราฟต์เบียร์โอเวอร์ซัพพลาย แต่มั่นใจว่า คราฟต์เบียร์แนว Local Product ยังมีโอกาส เพราะมีความสดกว่าเบียร์นอกที่กว่าจะเดินทางมาถึงและนำเข้ามาขายได้ ทั้งนี้ คราฟต์เบียร์ไทยในตลาดต่างประเทศ ก็ยังมีแววรุ่ง เพราะปัจจุบันร้านอาหารไทยในต่างประเทศ มีเยอะมาก