เลอา…A Story of True Leia

(โดย Reviewer Ocelot เพจ ไทยเกมวิกิ เว็บ http://www.thaigamewiki.com/)

 

เชื่อว่าวินาทีนี้คงไม่มีข่าวไหนดังส่งท้ายปีมากไปกว่าการจากไปของ Carrie Fisher ผู้รับบทบาทเจ้าหญิงเลอาที่กลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรมของคนยุค 80 ไปเรียบร้อยแล้ว

ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้วาดลวดลายไลท์ เซเบอร์ ปัดกระสุนฝ่ายจักรวรรดิบนจอเงินเหมือนเจไดหลายคนในเรื่อง…แต่คุณอาจยังไม่รู้ว่า ในชีวิตจริงนั้นเธอต้องต่อสู้กับด้านมืดที่อยู่กับตัวเธอมานานแสนนาน

ด้านมืด หรือสิ่งที่เรียกว่า ไบโพลาร์ (โรคอารมณ์สองขั้ว)

ฟิชเชอร์ ไม่เคยรู้สึกถึงอาการผิดปกติของตัวเองมาก่อน เช่นเดียวกับผู้เป็นโรคไบโพลาร์ทั่วไป อาการอารมณ์สองขั้วของเธอเริ่มชัดเจนเมื่อเธอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มหันหน้าเข้าหายาเสพติด คือ โคเคน เพราะ โคเคน คือทางเดียวที่จะทำให้เธอดำรงชีวิตในแต่ละวันได้อย่างราบรื่นที่สุด ถึงขนาดที่เธอนำโคเคนไปเสพในฉากบนดาวน้ำแข็งของ Star Wars ภาค The Empire Strikes back เลยทีเดียว และจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าในเวลาต่อมาเธอจะเผชิญกับการเสพยาเสพติดเกินขนาด

หลังจากที่เธอทราบแน่ชัดจากแพทย์แล้วว่าเธอเป็นไบโพลาร์จริงๆ จนต้องทำการรักษา นอกจากการบำบัดด้วยยาแล้ว สิ่งที่เธอใช้บำบัดอีกวิธีก็คือการเขียน เพราะการเขียนทำให้อาการจิตเวชในใจของเธอเริ่มก่อรูปก่อร่างผ่านตัวอักษรซึ่งฟิชเชอร์เล่าว่านี่คือวิธีการที่เธอจะเรียนรู้สิ่งที่เธอเป็นอยู่ได้ ถึงแม้เราจะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าอาการทางจิตแบบนี้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับความคิดสร้างสรรค์ แต่ฟิชเชอร์ก็ถือว่าเป็นนักเขียนที่มากฝีมือคนหนึ่งและเธอเคยฝากผลงานเอาไว้มากมาย ทั้งนวนิยายและงานเขียนประเภทอื่น เช่น Postcards from the Edge หรือ Wishful Drinking

สิ่งที่น่าสนใจคือ ตลอดชีวิตของการต่อสู้กับโรคนี้ ฟิชเชอร์ไมได้ปกปิดเรื่องนี้กับใคร เธอพูดเรื่องนี้ต่อสาธารณชนเมื่อมีโอกาส เล่าเรื่องราวของเธอกับเพื่อนสนิทที่ชื่อไบโพลาร์อย่างเปิดเผย กระทั่งเธอเคยพูดติดตลกว่าเธออยากตั้งวันไบโพลาร์ ไพรด์ จนอาจกล่าวได้ว่ามรดกที่ล้ำค่าไม่แพ้บทเจ้าหญิงเลอาก็คือการที่เธอทำให้ไบโพลาร์กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดได้กับทุกคน และไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ใครสักคนจะยอมรับภาวะทางจิตที่ตัวเองเป็น

เรื่องของฟิชเชอร์ ทำให้ผมนึกถึงดาราชื่อดังอีกคนที่ชีวิตก็ได้รับผลกระทบจากภาวะทางจิตเหมือนกัน นั่นคือ ร็อบบินส์ วิลเลียม ที่เสียชีวิตด้วยโรคซึมเศร้า มีคำถามเกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะคำถามที่ว่าคนที่ดูภายนอกเป็นคนตลกตลอดเวลาทำไมถึงเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่ความจริงแล้วโรคซึมเศร้าอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เราไม่รู้เลยว่าคนรอบตัวที่เห็นหน้าค่าตากันทุกวัน ที่พวกเขาดูมีความสุขเมื่อได้พูดคุยนั้น แท้จริงแล้วพวกเขากำลังเศร้าใจอยู่ลึกๆ หรือไม่ เพราะไม่มีใครได้ยินเสียงร้องไห้ในใจของคนอื่นได้

คงจะดีกว่า ถ้าสังคมไทยจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนดังทั้งสอง เพื่อรู้จักรับมือกับภาวะทางจิตเวชเหล่านี้มากขึ้น อย่างที่ฟิชเชอร์ได้แสดงให้เห็นว่าเธอสามารถที่จะอยู่กับมันได้อย่างเปิดเผยและเรียนรู้ไปกับมัน

หากอาการจิตเวชเปรียบเสมือนด้านมืด เราทุกคนก็ล้วนมีด้านมืดอยู่ในตัวเองกันทั้งสิ้น อาจมีน้อยจนไม่แสดงอะไรผิดปกติให้เห็น หรืออาจมีมากจนมีผลกระทบกับชีวิต สิ่งที่ฟิชเชอร์พยายามจะบอกต่อโลกโดยเฉพาะคนที่ประสบภาวะทางจิตอยู่ก็คือ ลองทักทายเสียงที่อยู่ในหัวตัวเอง ทำความรู้จักมัน เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน จนถึงที่สุดด้านมืดที่ว่าอาจไม่ใช่สิ่งที่ชั่วร้ายอย่างที่คิด แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเติบโตด้วยการทำให้เรารู้จักตัวของเราเอง

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน