นักอ่านเตรียมตัว ‘อ่านออกเสียง’ ให้ดัง! ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ประกาศความพร้อมจัด “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23” และ “เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12” วันที่ 17-28 ต.ค. 2561 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “อ่านออกเสียง” ชม นิทรรศหนังสือสาบสูญ 3018/ นิทรรศการสำหรับเด็กและครอบครัว Wonder Land ดินแดนค้นพบตัวตน และนิทรรศการเยาวชน ท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU…จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม เป็นต้น พร้อมเวทีเสวนาและกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมายตลอด 12 วัน

แถลงจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23

นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “อ่านออกเสียง” การอ่านออกเสียง คือ การอ่านให้มีเสียงดัง เป็นการอ่านเพื่อส่งสาร ช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ง่ายและมากขึ้น อีกทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน และพิเศษสุดคือการจัดงาน “เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12” ขึ้นพร้อมกัน ทำให้งานครั้งนี้เป็นงานสำหรับทุกเพศและทุกวัยอย่างแท้จริง

สุชาดา สหัสกุล

“ปีนี้ในงานมีนิทรรศการหลัก 3 นิทรรศการ เริ่มจากนิทรรศการ ‘หนังสือสาบสูญ 3018’ บริเวณหน้าห้องเพลนารีฮอลล์/ นิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน ที่ห้องมีทติ้งรูม 1-2 และนิทรรศการ ‘ท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU… จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม’ โซนฮออล์เอ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ ‘หนังสือติดดาว’/ นิทรรศการ ‘100ABCD’/ นิทรรศการ ‘TK Book Rally รู้จักกันผ่านหนังสือ’ และนิทรรศการ ‘สื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2’ รวมทั้งนิทรรศการอื่นๆ ที่จัดแสดงโดยหน่วยงานภาคีเครือข่ายให้ชมในงานครั้งนี้อีกด้วย”

รูปจำลองนิทรรศการหนังสือสาบสูญ

“นิทรรศการหนังสือสาบสูญ 3018” เริ่มมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า “หนังสือ 99.5% สูญสลายหายไปตามกาลเวลา และมีเพียงส่วนที่เหลือไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำที่จะสามารถคงอยู่ต่อไป” ผู้ชมนิทรรศการจะจินตนาการไปสู่โลกอนาคต กับภาพจำลองของห้องเก็บข้อมูลในยามที่หนังสือไม่มีอยู่อีกแล้ว สิ่งที่คงเหลือไว้คือประวัติศาสตร์ และปูมบันทึกเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกหนังสือและการอ่านที่เปลี่ยนแปลงตลอดมา เพื่อเน้นย้ำว่า “ผู้อ่าน” มีส่วนตัดสินชี้ขาดความเป็นไปของหนังสือหรืองานเขียนต่างๆ อย่างไร เฉกเช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ที่เราจะเข้าใจได้ก็เมื่อทุกอย่างดำเนินมาสู่จุดสิ้นสุด ในนิทรรศการจะมีกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้เช้าชมร่วมสนุกด้วย

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อ “เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12” ได้แก่ “นิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน” นิทรรศการสำหรับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี เพื่อให้เด็กค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจ จากโซนกิจกรรม 10 ฐานที่ทั้งสนุกและสร้างการเรียนรู้แตกต่างกันไป

เตรียมพร้อมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23

“นิทรรศการท่องโลกมหัศจรรย์ของ HOSODA MAMORU… จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม” นิทรรศการระดับโลกที่ผ่านการจัดแสดงทั้งในกรุงปารีส เซี่ยงไฮ้ โตเกียว และไทเป และส่งตรงมางานมหกรรมหนังสือที่กรุงเทพฯ โดยนำภาพสเก็ตช์และสตอรี่บอร์ดจริงของ Hosoda Mamoru (โฮโซดะ มาโมรุ) ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมะชื่อดัง และผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ล้วนมาจากภาพยนตร์ของเขาที่เข้าฉายในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์เป็นนิยายและหนังสือการ์ตูนในฉบับภาษาไทย

และครั้งแรกสำหรับงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนที่จะเชิญเด็กจากชุมชนปีนัง ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่พวกเขากลับไม่เคยมีโอกาสเข้ามาร่วมงานเลย โดยจะเชิญมาเป็นแขกพิเศษร่วมงานเปิดนิทรรศการ WONDER LAND ดินแดนค้นพบตัวตน และมอบบัตรของขวัญ เพื่อนำไปซื้อหนังสือในงาน

ด้านเวทีเสวนาหรือเวทีเอเทรียม ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถาพิเศษให้กับโครงการหนึ่งอ่านล้านตื่น ในหัวข้อ “การอ่านสร้างนวัตกรรม” ในวันอาทิตย์ที่ 21 ต.ค. เวลา 11.00 น.

อีกหนึ่งรายการสำคัญคือการเสวนาในชื่อว่า “เสียงที่ไม่(เคย)ได้ยิน” จัดขึ้น 2 วัน เริ่มจากวันที่ 18 ต.ค. จะเป็นเวทีภาคประชาชน ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ เดย์ ฟรีแมน นักแสดงนางโชว์ตัวแม่และนักอ่านตัวยง บังเจ๊ะหัน ยะลา ชาวบ้านจากกระบี่ ผู้พลิกชีวิตจากศูนย์เป็นล้านด้วยความรู้จากการอ่าน พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ นักเขียนผู้ดวงตาพิการ เจ้าของวรรณกรรมเยาวชน “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” อักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด

ของที่ระลึกสุดพิเศษ

วันศุกร์ที่ 19 ต.ค. จะเป็นเวทีภาคการเมือง มีพรรคการเมืองต่างๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมเสวนาแนวคิดและความเห็นเกี่ยวกับหนังสือและการอ่านในประเทศไทยจากมุมมองของนักการเมือง ทั้งสองวันเริ่มเวลา 17.00 – 19.00 น. ร่วมด้วยการเสวนาและการเปิดตัวหนังสือใหม่จากผู้มีชื่อเสียง

พิเศษสุด โปสการ์ด “อ่านออกเสียง” Limited Edition การผนึกลายเส้นครั้งสำคัญจาก 17 นักวาดชั้นนำและสำนักพิมพ์ชื่อดัง หนังสือ Guidebook ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จากกรมการพัฒนาชุมชน แจกฟรีให้ผู้เข้าชมงาน

โปสการ์ดสุดน่ารัก

พบหนังสือราคาพิเศษที่คัดสรรมาให้เลือกกว่า 1,000,000 เล่ม จากสำนักพิมพ์ 376 ราย รวมทั้งสิ้น 931 บูธ บนพื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร มาร่วมอ่านออกเสียงให้ดังสนั่นที่ “งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23” และ “เทศกาศหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12” ระหว่างวันพุธที่ 17 ถึงวันอาทิตย์ที่ 28 ต.ค. 2561 รวมทั้งสิ้น 12 วัน ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน