รอสักครู่! รัฐบาลเผยแล้ว จ่อเปิดช่อง ให้เกษตรกร ปลูกกัญชาได้!

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ ​21 พ.ย ที่โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการสัมนาวิชาการ เรื่อง ‘การใช้กัญชาทางการแพทย์ : ประสบการณ์ของประเทศออสเตรเลีย แคนาดา และเนเธอร์แลนด์’

เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ โดยมีนักวิชาการจากประเทศออสเตรเลีย แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมประชุมถ่ายทอดประสบการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังมีผู้เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงานทั้ง แพทย์ เภสัชกร เกษตรกร และนักกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม

พล.อ.อ ประจิน กล่าวว่า การจัดสัมนาวิชาการในครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงนโยบายเกี่ยวกับกัญชา เพราะหน่วยงานที่กี่ยวข้องของไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการใช้กฎหมายใหม่ที่จะมีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และศึกษาวิจัย

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีประเด็นการจดสิทธิบัตรกัญชาของชาวต่างชาติว่า พล.อ.อ ประจิน กล่าวว่า ตอนนี้ประเด็นพี่พูดกันเรื่องนี้คือ ไม่ควรให้จด ถ้าจัดแล้วถูกต้องหรือไม่ และสิ่งที่จดแล้วถูกกฎหมายเลยหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ จะต้องรีบเคลียปัญหาโดยด่วน ได้มอบหมายให้ทางป.ป.ส. ปลัดกระทรวงยุติธรรม นัดหารือร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในประเด็นที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ น่าจะได้ข้อยุติ ทั้งนี้โดยหลักการแล้ว ต้องการให้ประเทศไทยและคนไทยได้ประโยชน์ 100 % แต่ถ้ามีข้อจำกัดเรื่องสูตรยาอาจให้ต่างชาติเข้ามาร่วมในรูปแบบของการร่วมทุนหรือหุ้นส่วน โดยไม่ให้ต่างชาติได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว

พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวด้วยว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีความรู้และการวิจัยเกี่ยวกับกัญชา แต่สิ่งที่ต่างประเทศวิจัยไว้ก่อนหน้า ทำให้เขามีสูตรยาและสิทธิบัตร ดังนั้นเชื่อว่าเขาคงไม่ให้เราทั้งหมด ประเด็นคือจะทำอย่างไรที่จะนำสูตรยาของต่างประเทศมารวมกับภูมิปัญญา และเพื่อไม่ให้การวิจัยกัญชาในไทยติดขัดด้วยข้อกฎหมาย รัฐบาลได้เร่งรัดเต็มที่คาดว่าไม่เกิน 60 วัน หรือปลายเดือนธ.ค.นี้ กฎหมายเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์จะมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ 2 ชุด ซึ่งจะทำงานคู่ขนานกัน ชุดแรกจะดูแลการศึกษาวิจัย โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ ส่วนชุดที่ 2 ดูแลเรื่องกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบ คาดว่าสัปดาห์จะเสนอชื่อกรรมการให้ครม.อนุมัติ จากนั้นจะเดินหน้าทุกเรื่องโดยไม่รอให้กฎหมายแล้วเสร็จ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงการนำกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ว่า จะเป็นในรูปแบบ 3 ประสาน รัฐบาลไม่ได้มองไปที่แพทย์แผนปัจจุบันอย่างเดียว ยังมีการระดมความรู้จากแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ที่นำพืชเสพติดมาเป็นสมุนไพรทำอาหารเสริมและยารักษาโรค แต่อยากให้รวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อควบคุมได้อย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างจากโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ ที่สกัดสมุนไพรมาเป็นยารักษาโรคและอาหารเสริมที่มีมาตรฐานรับรอง

พล.อ.อ ประจิน ยังกล่าวว่า สำหรับตำรับแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้นำกัญชามาใช้รักษาโรคและใช้ในชีวิตประจำวันมานานแล้ว แต่ด้วยเหตุที่กัญชามีผลต่อจิตประสาท ทำให้กัญชาให้ควบคุมและกำหนดเป็นพืชเสพติดและยาเสพติด ผู้ผลิต ครอบครอง และใช้มีความผิดทางอาญา ปัจจุบันยอมรับว่ากฎหมายยาเสพติดที่กระจายอยู่ในกฎหมาย 7 ฉบับ ไม่ทันสมัย ไม่เป็นที่ยอมรับ และจำเป็นต้องปรับปรุง

กระทรวงยุติธรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ร่วมกันยกร่างกฎหมายยาเสพติด 2 ฉบับ เพื่อให้ผู้ป่วยเป็นผู้เสพต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างครอบคลุม โดยสถิติในปี 60 พบว่าประชากรเข้าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1.3 ล้านคน ขณะที่ศักยภาพในการบำบัดรักษามีเพียง 2.5-3 แสนคนต่อปี ส่วนที่เหลือต้องไปบำบัดรักษาตัวเอง

และพบว่ากัญชามีสัดส่วนการเสพเพียง 5-10% การนำมาใช้ประโยชน์จึงมีโอกาสสูงกว่ายาเสพติดประเภทอื่น แต่ต้องไม่ขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ และพันธะสัญญาที่ไทยทำกับ UNODC ซึ่งหลักการคือไม่ทำให้ยาเสพติดผิดกฎหมายกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แค่ยินยอมให้ดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้ข้อกำหนดไม่ใช่เปิดเสรี มีการควบคุมตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ การปลูก ผลิต ควบคุมปริมาณ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า สำหรับการอนุมัติปลูก รัฐบาลยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่โดยละเลยกลุ่มเกษตร แผนการดำเนินงานที่เตรียมไว้คือ

เปิดให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชน ปลูกเป็นเป็นแปลงใหญ่ มีโรงเรือนที่เหมาะสม ควบคุมอุณหภูมิ เมล็ดพันธุ์ น้ำ ดิน และความชื้น ขณะนี้ได้จัดหาอาสาสมัครและทีมวิจัยออกแบบโรงเรือนต้นแบบราคาถูกให้กับเกษตรกรคล้ายกับโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ผลิตกล้วยตาก หรือโรงเรือนปลูกพืชปลอดสารพิษและป้องกันแมลง

เพราะการลงทุนสร้างโรงเรือน 100 ล้านบาท ไม่คุ้มทุนสำหรับเกษตรกรแน่นอน การผลิตเพื่อส่งออกจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรไทย แต่ต้องเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คือมีมาตรการควบคุมที่ชัดเจนไม่ให้กัญชาในระบบหลุดออกไปใต้ดิน และไม่ให้กัญชานอกระบบถูกนำเข้ามาสกัดเป็นยา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเริ่มดำเนินการได้ใช่วงกลางปี 62

“เราขอพูดให้เข้าใจง่ายๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสบายใจและกลับมาสนับสนุน ไม่สงสัยว่าเรากำลังตัดสินใจในสิ่งที่ผิด ขอให้มั่นในว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและคนไทยเป็นลำดับแรก สิ่งที่จะออกมาต้องสมประโยชน์ทุกฝ่าย” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ภายหลังสนช.ผ่านร่างกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ ยังต้องมีกฎหมายลูกอาจออกมาเป็นกฎกระทรวงหรือระเบียบ เพื่อควบคุมการกำหนดพื้นที่ปลูก การผลิต และการส่งยาไปให้ถึงมือผู้ป่วย ควบคุมปริมาณการใช้ให้ชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกัญชาจากยาเสพติดประเภท 5 มาเป็นประเภท 2

และยืนยันไม่ปลดกัญชาพ้นจากบัญชียาเสพติด กัญชายังเป็นพืชเสพติดผิดกฎหมาย แค่ผ่อนปรนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

ส่วนข้อเรียกร้องให้ผู้ป่วยสามารถปลูกกัญชาในกระถางเพื่อนำมาใช้บำบัดรักษาตัวเองนั้น ยังทำไม่ได้เพราะกัญชาที่ปลูกเองไม่ผ่านการทดลองทางคลินิก ไม่มีผู้ควบคุมว่าใช้แล้วจะไม่เกิดอาการโอเวอร์โดสและผลข้างเคียง และไม่ทราบว่าสารที่สกัดได้มีคุณค่าทางการรักษาหรือไม่ และหากเกิดข้อผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน