เช็คก่อนซื้อ! ชิพกับเดล ไม่ได้ขายถั่ว เด็ดสดๆกินหมดไม่ได้ เพราะมี…พิษ

กรณีกระแสเพลง ชิพกับเดล นี่สองพี่น้อง ขายถั่วในคลองฮิตติดหูเอาจากหัวไม่ออกไปทั่วบ้านทั่วเมืองนั้ ล่าสุด น.ส.ณัฎฐา ชื่นวัฒนา นักโบราณพฤกษคดี นักศึกษาปริญญาเอก ม.โตรอนโต ประเทศแคนาดา เปิดเผยถึงชนิดของพืชที่ชิพกับเดลพายขายในคลองตามเพลงเวอร์ชั่นภาษาไทยว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่ถั่ว แต่คือ ลูกโอ๊ค ซึ่งเป็นลูกเปลือกแข็ง (Nut) ชนิดหนึ่งในวงศ์ก่อ (Fagaceae)

ชิปมังค์กินได้ แต่ไม่ใช่ลูกโอ๊คทุกชนิดที่คนจะกินสดๆได้ ลูกโอ๊คป่าบางชนิด เมื่อผลยังสด อ่อน จะมีสารแทนนิน รสขมอยู่ในเนื้อ สารนี้เป็นพิษกับคน ถ้าใครไม่รู้เรื่องรู้ราว ไปเด็ดจากต้นสด หรือเก็บลูกโอ๊คที่มีพิษที่ร่วงบนพื้นมากินเข้าไปแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ จะต้องปวดท้องแน่ๆ

“ในตลาดแถบตะวันตกและอเมริกาก็จะมีลูกโอ๊คนี้ขายเหมือนกัน แต่เป็นสายพันธุ์ที่กินได้และผ่านการคั่วมาอย่างดี รับประทานได้ทันที”

น.ส.ณัฎฐากล่าวอีกว่า ในทางโบราณคดี ลูกโอ๊ค (oak acorn) พบได้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในหลายพื้นที่ที่มีอากาศเย็น เพราะมีเปลือกแข็ง เก็บรักษาได้ง่ายและคงสภาพเดิมได้เป็นเวลานาน

ดังนั้นเลยพบได้มากในแหล่งโบราณคดีหลายแห่งทางตอนเหนือที่มีอากาศเย็นหลายแห่ง ทั้งยุโรป,อเมริกาเหนือ และเอเชียตะวันออก ทั้งในญึ่ปุ่น จีน เกาหลี โดยเป็นอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตอย่างหนึ่งของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

แหล่งโบราณคดีสำคัญที่พบลูกโอ๊คในเอเชียตะวันออก ก็มี แหล่งโบราณคดีเทียนโหลวชาน (Tianloushan) ในมณฑลเจ้อเจียง แถบลุ่มแม่น้ำแยงซี ประเทศจีน ในชั้นดินที่มีอายุระหว่าง 4,800-3,800 ปีก่อนคริสตกาล ที่นี่พบหลุมบรรจุลูกโอ๊คไว้จำนวนหลายถังเลยทีเดียว

ที่มา มติชนออนไลน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน