รพ.แจงปมผู้ป่วย รอคิวหมอจนช็อกดับ เผยเหตุต้องแซงคิว เพราะตอนวัดครั้งแรกอาการไม่หนัก ต้องให้ผู้ป่วยที่มาทีหลังที่อาการหนักได้เข้าไปตรวจก่อน ส่วนภาพถ่ายเครื่องวัดความดันที่เห็นเลขความดันต่ำนั้น เพราะยังไม่ได้รีเซ็ตเครื่อง

รอคิวหมอจนช็อกดับ จากกรณี น.ส.จิรัชญา รังสฤษฏิ์วีระโชติ อายุ 41 ปี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ได้พาพ่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเบตง จ.ยะลา ซึ่งนั่งรอคิวตรวจอยู่นานก็ยังไม่ได้เข้าไปตรวจ แถมยังถูกแซงคิวอีก รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่จุดคัดกรองบอกว่า อาการไม่หนัก ความดันปกติ ก่อนอาการจะกำเริบหนัก และหมดสติไป ปั๊มหัวใจ 40 นาทีไม่ฟื้น กระทั่งเสียชีวิต ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น อ่านข่าว สาวโวยพ่อรอคิวหาหมอ โดนแซงคิวบอกเคสไม่ด่วน สุดท้ายพ่อสิ้นใจดับ!

ความคืบหน้าล่าสุดวันที่ 9 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับ น.ส.จิรัชญา ซึ่งเป็นลูกสาวของ นายกมลชัย รังสฤษฏิ์วีระโชติ อายุ 72 ปี ผู้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ศพตั้งอยู่ที่สามาคมปาดไกว น.ส.จิรัชญา เปิดเผยว่า วันเกิดเหตุเป็นวันอาทิตย์ที่ 7 ก.ค. ช่วงบ่าย ตนได้พาพ่อไปเข้ารักษาที่ ร.พ.เบตง เนื่องจากพ่อเป็นโรคชิคุนกุนยา เจ็บข้อเดินไม่ได้ พอถึงจุดคัดกรองก็รอคิว หลังจากวัดความดันเรียบร้อยแล้ว ก็นั่งคอย จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ตรวจคนที่มารอคิวต่อไปและนำเข้าไปในห้องฉุกเฉินแซงคิวพ่อไป

ตนจึงถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมพ่อถึงไม่ได้เข้า จะได้เข้าเมื่อไหร่ ตอนถามเจ้าหน้าที่ก็จับหน้าพ่อรู้สึกว่าพ่อตัวเย็น เสื้อเปียก แต่พ่อไม่พูดอะไรนั่งหลับ ตนจึงเข็นพ่อไปที่เจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็วัดความดันอีกครั้ง ก็พบว่าความดันต่ำจึงได้นำเข้าห้องฉุกเฉินไป และได้เสียชีวิตช่วงเวลา 17.00 น. ทำให้ตนมีความรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่บริการล่าช้า จึงทำให้พ่อเสียชีวิต จึงได้นำรูปพร้อมเขียนข้อความในเฟซบุ๊ก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข

ด้าน นพ.ยุทธนา รุ่งธีรานนท์ นายแพทย์ชำนาญการ อายุรแพทย์ ร.พ.เบตง ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของคนไข้ ได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากได้รับตัวคนไข้จากห้องฉุกเฉินมาอยู่ในห้องไอซียู ประเมินอาการโดยรวม คนไข้อาการยังไม่คงที่ มีอาการมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วประมาณ 130 ครั้งต่อนาที ความดันต่ำ แพทย์ก็รีบช่วยดูแลรักษาอย่างเต็มที่ ส่วนสาเหตุที่คนไข้เสียชีวิตเนื่องจากมีภาวะช็อกจากการติดเชื้อทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ประกอบกับคนไข้มีความดันลดลง

ส่วนทางด้าน พญ.ปัทมพันธ์ อนันตาพงศ์ ผู้อำนวยการ ร.พ.เบตง จ.ยะลา ได้ออกมาชี้แจงว่า หลังจากมีข่าวก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเรียกประชุมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์ พร้อมทั้งตรวจสอบเอกสารต่างๆ กล้องวงจรปิด เกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อหาสาเหตุ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเจ้าหน้าที่คัดกรอง ซึ่งเป็นพนักงานเวชกิจฉุกเฉินได้ตรวจอาการผู้ป่วยก่อนเพื่อแบ่งระดับความหนักเบาของผู้ป่วย หากผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็จะนำเข้าห้องฉุกเฉินเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาอย่างเร่งด่วน

ในกรณีที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่จุดคัดกรองได้ตรวจวัดความดันของผู้ป่วยที่เสียชีวิตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งความดันขณะนั้นอยู่ที่ 144/ 80 ซึ่งถือว่าปกติ จึงจัดเป็นผู้ป่วยในโซนสีเขียว คือเจ็บป่วยเล็กน้อย จึงได้ให้นั่งคอยตามคิว ส่วนที่ว่ามีการแซงคิว เนื่องจากมีผู้ป่วยอีกคนที่มาทีหลัง แต่ตรวจวัดความดันพบว่าความดันต่ำอยู่ที่ 75/38 ซึ่งถือว่ามีอาการหนักกว่า เป็นผู้ป่วยในโซนสีชมพู คือเจ็บป่วยรุนแรง ส่วนที่มีภาพถ่ายว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีความดันระดับต่ำ อยู่ที่ 75/38 ก็ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นค่าการวัดความดันของผู้ป่วยที่เจ้าหน้าที่ได้นำเข้าห้องฉุกเฉินไปก่อนหน้านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้กดรีเซตเครื่อง

ส่วนที่ว่าบริเวณจุดคัดกรองไม่ใช่พยาบาลนั้น สำหรับเหตุการณ์นี้ เนื่องจากภายในห้องฉุกเฉินก็มีผู้ป่วยอาการหนักอยู่ วันเกิดเหตุพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน ซึ่งมีหน้าที่ให้การช่วยเหลือคนไข้หรือผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บ เช่น การให้น้ำเกลือ การใช้ท่อช่วยหายใจ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การดูแลคนไข้บนรถพยาบาลฉุกเฉินจนถึงโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เรียนจบทางด้านเวชกิจฉุกเฉินจะประจำอยู่ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล และในบางครั้งออกมาช่วยเหลือผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุด้วยนอกโรงพยาบาลด้วย จึงได้มาช่วยที่บริเวณจุดคัดกรอง จึงทำให้ญาติคนไข้อาจไม่เข้าใจ ว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน