43 ปี 6 ตุลาฯ เสวนาวัตถุพยานกับความทรงจำบาดแผล เนื่องในโอกาสเปิดนิทรรศการ

6 ตุลาฯ / วันที่ 5 ต.ค. ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา “วัตถุพยาน กับความทรงจำบาดแผล เนื่องในโอกาสเปิดนิทรรศการ ประจักษ์ : พยาน ซึ่งจัดแสดงวัตถุพยานเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่จะจัดแสดงในวันที่ 5-6 ต.ค. นี้ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

เป็นเวลากว่า 43 ปีมาแล้ว ที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯยังคงเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดและเป็นบาดแผลอยู่ในความทรงจำของสังคมไทย ซึ่งอาจพูดได้ว่าบ่อเกิดมาจาก‘ความเห็นต่าง’ ทว่าจนถึงปัจจุบันเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่ได้ถูกแก้ไขหรือสะสางปมปัญหาแต่อย่างใด เป็นเพียงภาพจำที่คาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้ ซ้ำยังกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ด้านหลังอย่างเงียบงัน

ความสูญเสียทั้งหมดจากเหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของการสร้างแหล่งเรียนรู้จากปรากฏการณ์ความรุนแรงในอดีต ให้มีพื้นที่ในการจัดแสดงวัตถุพยาน เอกสารหลักฐานจริง มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อทำหน้าที่สะท้อนและเป็นแนวทางในอนาคตว่าสังคมไทยจะไม่ก้าวซ้ำรอยเดิม ในรูปแบบของ ‘พิพิธภัณฑ์’

จุฬารัตน์ ดำรงวิธีธรรม ผู้เขียนหนังสือ ถังแดง : การซ่อมประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย เปิดเผยเหตุการณ์ความรุนแรง และวลีที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอย่าง “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” ว่า เหตุการณ์ ถังแดง เกิดช่วงสงครามเย็น 2510 ในชุมชนลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เป็นคำใช้เรียกวิธีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการเข้าปราบปรามแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือคนที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิด ภายใต้การนำโมเดลการปราบปรามอย่างรุนแรงมาใช้สอบสวน ไปจนถึงทำร้ายร่างกาย ‘ถีบลงเขา’ คือการถีบลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ‘เผาลงถังแดง’ คือการนำคนใส่ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร แล้วราดน้ำมันลงไป จากนั้นจุดไฟเผาทั้งที่เสียชีวิตและยังมีชีวิต ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้น้อยมาก ตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ถังแดง จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยระบุไว้ที่ 3,008 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในชุมชนลำสินธุ์ที่ชาวบ้านมีหลักฐานบันทึกไว้อยู่ที่ 200 กว่าคน

“การจับกุมผู้ต้องสงสัยในเวลานั้น เป็นการจับแบบเหวี่ยงแห แค่มีชื่อซ้ำกันก็จะถูกจับมาหมด เหตุการณ์ถังแดงได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับในปี พ.ศ.2518 โดยหลังจากมีการประโคมข่าวออกมามากขึ้น จนทำให้รัฐบาลต้องเอาเรื่องเข้าครม. ตั้งกรรมการสอบสวนโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งขณะนั้นคณะกรรมการได้ออกมายอมรับว่ามีการเผาลงถังแดงจริง แต่ให้เหตุผลอ้างว่า 1.คนที่เสียชีวิตด้วยวิธีการจับลงถังแดงไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา 2.จำนวนมีอยู่แค่ 50-80 คนเท่านั้น 3.รัฐไม่ควรลงไปช่วยเหลือ เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ นี่คือการออกมายอมรับจากรายงานของรัฐในขณะนั้น”

เหตุการณ์ความรุนแรงที่ ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ แบบกรณี ‘ถังแดง’ ยังมีอีกมาก และไม่เป็นที่รับรู้ของสังคม แต่เราจะทำอย่างไรให้เรื่องราวเหล่านี้ออกไปสู่สายตาโลกยุคใหม่ให้มากที่สุด คือโจทย์ที่เราต้องทำ

ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยถึงงานวิจัยภาพถ่าย 6 ตุลาฯ ว่า การทำงานกับความทรงจำนั้นมีความยากอยู่หลายรูปแบบ หลักฐานภาพถ่ายมากมายที่ไม่คุ้นเคยถูกบันทึกเหตุการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นและนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้น ได้ให้ข้อมูลกับเราได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาก็จริง แต่อีกแง่มุมหนึ่งภาพถ่ายก็สามารถทำให้เราเข้าใจข้อมูลผิดหรือคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน เช่น กรณีภาพถ่ายการเล่นละครแขวนคอที่ไปอยู่ในภาพพาดหัวข่าว ก็เป็นเคสที่ชัดเจนว่าภาพถ่ายสามารถหลอกเราได้ ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงภาพถ่ายในฐานะพยานหลักฐาน คือสิ่งที่จะกระตุ้นให้คนที่เคยเห็น เคยผ่าน รำลึกขึ้นมาได้ แต่เทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นในปัจจุบันสามารถทำให้ภาพถ่ายเป็นตัวช่วยที่จะทำให้มองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนขึ้น และรับรู้เรื่องราวได้มากขึ้น

ด้านธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องอดีต แต่เป็นเรื่องของปัจจุบัน เช่นเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาฯก็ไม่ใช่แค่การสร้างตึก เอางบมาออกแบบสร้าง แต่เราอยากทำเป็นกระบวนการ เราอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และผู้ที่สนใจ มีส่วนร่วมในการจัดแสดง ทั้งหลักฐาน สิ่งของ วัตถุ เรื่องเล่า มาจัดกิจกรรมการศึกษา เช่น นิทรรศการ เสวนาและเวิร์กช้อบ เพื่อให้เรื่องราวของวันที่ 6 ตุลาฯได้ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง

ทั้งนี้ หนึ่งในวัตถุพยาน ซึ่งจัดแสดง คือ กางเกงยีนส์ของนายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ใส่กางเกงยีนส์ตัวนี้ในวันที่มาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายดนัยศักดิ์เสียชีวิตด้วยบาดแผลถูกกระสุนปืนที่เส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยหลังจากนายดนัยศักดิ์เสียชีวิต ครอบครัวได้เก็บกางเกงตัวนี้ไว้ที่บ้านจ.นครศรีธรรมราชจนถึงทุกวันนี้

นัดดา เอี่ยมคง พี่สาวนายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง กล่าวว่า น้องชายเข้าไปช่วยเหลือชีวิตคนอื่นจนตัวตาย สำหรับตนนี่คือเรื่องราวที่สามารถพูดได้ด้วยความภูมิใจ ไม่ได้รู้สึกเสียใจ แม้หลักฐานมากมายจะบ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่าเราเป็นฝ่ายถูกกระทำก็ตาม แต่เรามีความรู้สึกว่าน้องเราได้ช่วย ได้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ชีวิตด้วยชีวิต เมื่อพูดถึงเหตุการณ์นั้น คนมักจะนึกถึงแค่ผู้สูญเสียและเสียชีวิต แต่ก็ยังมีอีกแง่มุมที่สามารถหยิบมาพูดถึงด้วยความภูมิใจได้

นิทรรศการ ประจักษ์ : พยาน เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม ไม่ใช่แค่การจับเรียงหลักฐาน สิ่งของมาวางไว้แล้วรื้อฟื้นอดีต แต่คือการรวบรวมเอาความจริง มาร้อยเรียงให้เป็นบทเรียนที่คนยุคใหม่ต้องเรียนรู้ เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน