โควิดเล่นงาน! 17 สายการบิน จี้คมนาคม ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมใช้สนามบิน 1 ปี

17 สายการบิน / เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 4 มี.ค. เชิญ 17 สายการบินพาณิชย์ ยกเว้นการบินไทยและไทยสมายล์ มาหารือร่วมกับหน่วยงานด้านการบินในสังกัดของกระทรวงคมนาคม โดยสายการบินเอกชนขอให้รัฐพิจารณายกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการใช้บริการของสายการบิน

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

อาทิ ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าจอดอากาศยาน ค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น สะพานเทียบ เป็นต้น ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าธรรมเนียมการเดินทางเข้าและออกนอกประเทศ ค่าธรรมเนียมการคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า ค่าธรรมเนียมสำหรับอำนวยความสะดวกในการจราจรทางอากาศ โดยจะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ 100 % ในปีที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี และในปีที่ 2 จะขอลด 50 % เพื่อช่วยเหลือสายการบินที่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“กระทรวงคมนาคมจะสรุปตัวเลขและมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลือให้เสร็จในวันที่ 5 มี.ค. และเสนอให้ครม.เศรษฐกิจพิจารณาอนุมัติวันที่ 6 มี.ค. หากเห็นชอบจะดำเนินการทันทีจนกว่าสถานการณ์ปัญหาโรคจะคลี่คลาย แต่หากไม่ได้หรือไม่ไหวก็อาจต้องขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐตามความจำเป็นต่อไป โดย 17 สายการบินประเมินว่า ต้องใช้เวลาอีก 1 ถึง 1 ปีครึ่งจึงจะฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ”นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปัญหาโควิด-19 ทำให้ตัวเลขผู้โดยสารภาพรวมลดลง 2.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้โดยสารต่างประเทศลดลง 35.2 % ส่วนผู้โดยสารในประเทศลดลง 18.4% ส่งผลให้ต้นทุนสายการบินเพิ่มขึ้น 30-40 % ต่อที่นั่ง ขณะที่อัตราขนส่งผู้โดยสารต่างประเทศลดลง 40-60 % และในประเทศลดลง 70-80 % มีเครื่องบินที่จอดไม่ได้ใช้งาน 10-15 % รวมทั้งมีเครื่องบินที่ถูกยกเลิกแล้ว 7,879 เที่ยว แบ่งเป็นต่างประเทศ 6,960 เที่ยวและในประเทศ 919 เที่ยว สำหรับสายการบินของรัฐคือการบินไทยและไทยสมายล์จะมาหารือยื่นข้อเสนอกับตนอีกครั้งในวันที่ 5 มี.ค. เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงมาตรการในการดูแลผู้โดยสารที่จะเดินทางกลับมาจากเมืองแทกู และคย็องซังเหนือ ประเทศเกาหลีใต้ว่า ที่ประชุมมีมติให้ผู้โดยสารที่เดินทางมาจาก 2 เมืองดังกล่าวต้องไปกักตัวในพื้นที่เฉพาะที่รัฐจัดไว้ให้ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้เป็นเวลา 14 วัน เพื่อกักโรค ส่วนผู้โดยสารจากชาติอื่นที่โดยสารมาเที่ยวบินเดียวกันจะถูกส่งตัวไปกักไว้ 14 วันในพื้นที่ที่จัดไว้ให้

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น ผู้ดำเนินธุรกิจสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้รับข้อเสนอของสายการบินไว้พิจารณา แต่ขอนำไปหารือภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะมาตรการชดเชยและเยียวยาบางมาตรการเกี่ยวกับงบเงิน จึงต้องนำเสนอมาตรการให้ครม.เศรษฐกิจเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ซึ่งนายศักดิ์สยามขอให้สายการบินกลับไปจัดทำแผนโดยละเอียดและกลับมาเสนอ เพื่อนำไปประกอบการเสนอให้ครม.พิจารณาในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.

“มาตรการที่สายการบินต้องการให้รัฐช่วยเหลือให้มากที่สุด คือการปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าขึ้นลงสนามบิน ค่าจอด ค่าบริการจัดจราจรทางอากาศ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน เป็นต้น อยากขอให้ช่วยลด นานๆ 1 ปี หรือ 2 ปี ก็ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะพิจารณาให้ได้มากแค่ไหน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับงบประมาณของรัฐบาลด้วย”นายธรรศพลฐ์กล่าว

สำหรับสถานการณ์ของสายการบินพาณิชย์เอกชนภาพรวม ส่วนใหญ่ต้องเร่งมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยสายการบินที่มีเที่ยวบินจำนวนมากก็ต้องหาทางปรับลดค่าใช้จ่ายมากตามไปด้วย เนื่องจากปัญหาไวรัสคิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักได้ส่งผลกระทบทำให้เที่ยวบินพาณิชย์ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ลดลงไปกว่า 7,000 กว่าเที่ยวบินแล้ว และมีแนวโน้มจะปรับลดเพิ่มขึ้นอีกหากการแพร่ระบาดยังยืดเยื้อ ซึ่งก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะจบเมื่อไหร่

นายธรรศพลฐ์ กล่าวถึงสถานะของสายการบินไทยแอร์เอเชียว่า ขณะนี้ยอดผู้โดยสารปรับลดลงมาก โดยอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 60 % เทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อนที่อยู่ที่ 80-90 % ส่วนสถานะของพนักงานนั้น ขณะนี้สายการบินไทยแอร์เอเชีย และแอร์เอเชียเอ็กซ์มีพนักงานรวมทั้งสิ้น 8,000 คน ยืนยันยังไม่ได้มีการปรับลดพนักงานหรือให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับเงินเดือน แต่ยอมรับว่ามีการให้สลับหยุดบ้างและตัดค่าใช้จ่ายบางส่วน แต่ยืนยันว่าทุกคนยังมีตำแหน่งงานอยู่ไม่ได้ปลดหรือลดคนแน่นอน ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าในเดือนพ.ค. สายการบินจะปรับลดพนักงานนั้น ยืนยันเป็นเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้างเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน