นิสิตสาวพลัดตกบ่อบำบัดน้ำเสีย ในโรงงานแปรรูปเป็ด-ไก่ ของซีพีเอฟ ที่บางนา เผยอยู่ชั้นปี 5 คณะสัตวแพทย ศาสตร์ จุฬาฯ เดินทางดูงาน พนักงานพยายามลงไปช่วย แต่สุดท้ายไม่รอด ดับสลด 5 ราย ตร.บางนา รุดสอบคาดสูดก๊าซพิษจากบ่อบำบัดที่โชยคลุ้งอยู่ทั่วบริเวณ จนขาดอากาศหายใจ ยังไม่ชัดนิสิตสาวตกลงไปได้อย่างไร อยู่ระหว่างพฐ.ตรวจสอบสาเหตุ ด้านบริษัทเสียใจ พร้อมรับผิดชอบช่วยเหลือทั้งหมด ขณะที่เพื่อนร่วมคณะแห่โพสต์อาลัย

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 มิ.ย. ร.ต.อ.ภูมิวัฒนา ฤทธิ์ทอง รองสารวัตร (สอบสวน) สน.บางนา รับแจ้งเหตุมีผู้พลัดตกบ่อบำบัดน้ำเสียภายในบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย จำกัด มหาชน) ซอยบางนา-ตราด 20 ถนนบางนา-ตราดขาเข้า แขวงและเขตบางนา กทม. มีผู้บาดเจ็บและสูญหายไปหลายราย หลังรับแจ้งจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน หน่วยกู้ชีพและเจ้าหน้าที่กูภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูรุดไปที่เกิดเหตุ

ไปถึงพบบริษัทซีพีเอฟดังกล่าว เป็นโรงงานผลิตอาหาร ที่แปรรูปจากเนื้อไก่ เป็ด โดยจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสีย ด้านหลังโรงงานพบว่ามีกลิ่นฉุนของก๊าซ ไข่เน่าโชยออกมาจากบ่อบำบัดตลอดเวลา นอกจากนี้ยังพบบันไดไม้ที่พนักงานใช้พาดลงไปภายในบ่อบำบัด เพื่อที่ช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ภายในจำนวน 5 ราย โดยเบื้องต้นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ได้ช่วยเหลือนำขึ้นมาได้ 1 รายเป็นชายถูกนำส่ง ร.พ.ใกล้เคียงไปก่อนหน้านี้ ทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใส่หน้ากากกั้นก๊าซพิษ ลงไปที่ด้านล่างของบ่อบำบัดเพื่อค้นหาผู้ที่ติดอยู่อีก 4 ราย เป็นชาย 2 ราย หญิง 2 ราย โดยใช้เวลา 30 นาที จึงพบทั้งหมดแต่ปรากฏว่าทั้ง 4 รายเสียชีวิตแล้ว จากการขาดอากาศหายใจ จึงทยอยนำศพผู้เสียชีวิตทั้งหมดขึ้นมาจากบ่อบำบัด

จากการตรวจสอบรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย นายพรชัย บุญบาน อายุ 40 ปี พนักงานบริษัท ซีพีเอฟ นายชาญชัย พันธุนาคิน อายุ 42 ปี พนักงาน บริษัทซีพีเอฟ น.ส.ลักษ์ชนก แสนทวีสุน อายุ 24 ปี เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม บริษัท ซีพีเอฟ และน.ส.ปัณฐิกา ตาสุวรรณ อายุ 23 ปี นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักศึกษาฝึกงาน ขณะที่ผู้บาดเจ็บชื่อนายชาตรี ศรีสันคร ไม่ทราบอายุ เป็นพนักงานบริษัทซีพีเอฟ ที่ถูกนำตัวส่งร.พ. ล่าสุดได้รับรายงานว่าได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

ทั้งนี้จากการสอบสวนทราบว่าก่อนเกิดเหตุ น.ส.ลักษ์ชนก แสนทวีสุน อายุ 24 ปี เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อม บริษัท ซีพีเอฟ พาน.ส.ปัณฐิกา พร้อมเพื่อนนักศึกษาอีกคน มาศึกษาดูงานขั้นตอนการบำบัดน้ำเสียของโรงงาน แต่น.ส.ลักษ์ชนกเกิดพลัดตกลงไปในบ่อบำบัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่ยืนยันว่าจะเกิดลื่นล้มหรือเกิดอาการหน้ามืดจากการสูดดมก๊าซพิษ น.ส.ลักษ์ชนกพยายามดึงช่วยแต่กลับตกลงไปอีกราย จากนั้นพนักงานชายอีก 3 คนจึงลงไปช่วย แต่ก็เกิดหมดสติจนเสียชีวิตทั้งหมด จึงมอบศพให้เจ้าหน้าที่มูลนิธินำส่งร.พ.จุฬาฯ ดำเนินการชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงอีกครั้ง

ทางด้านนายปริโสทัต ปุณณภูท รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ทาง บริษัท ขอแสดงความเสียใจกับนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ของบริษัท กับครอบครัวผู้สูญเสียชีวิตในครั้งนี้ โดยบริษัทยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแก่ครอบครัวผู้สูญเสียอย่างเต็มที่นอกเหนือจากความช่วยเหลือ ตามระเบียบของบริษัท และหากครอบครัวใดมีบุตรหลานที่อยู่ระหว่างศึกษา บริษัทจะให้การดูแลเรื่องทุนการศึกษาไปจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว โดยในเบื้องต้นบริษัทได้ดำเนินการติดต่อกับครอบครัวผู้ เสียชีวิตเรียบร้อย พร้อมทำการส่งศพให้ครอบครัวเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ควบคุมที่ระบุชัดเจนว่าเป็นพื้นที่อันตราย ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตจึงจะเข้าเยี่ยมชมได้ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าวอาจมีแก๊สที่สามารถทำให้หมดสติ ซึ่งเหตุเบื้องต้นทราบว่าในวันนี้มีนักศึกษาฝึกงาน เข้ามาเยี่ยมชมดูงานภายในโรงงาน จำนวน 2 คน ซึ่งเมื่อถึงจุดเกิดเหตุ นักศึกษาคนหนึ่งได้พลัดตกลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสีย เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของโรงงานที่ทำหน้าที่ พานักศึกษาเยี่ยมชมโรงงานได้เข้าพยายามช่วยเหลือ ส่วนนักศึกษาอีกคนวิ่งออกไปขอความช่วยเหลือด้านนอก จากนั้นคนงานอีก 3 คนจึงเข้ามาช่วยเหลือและเสียชีวิตทั้งหมด

ขณะนี้สาเหตุที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถระบุได้ว่า นักศึกษาพลัดตกลงไปในบ่อได้อย่างไร เนื่องจากที่เกิดเหตุเป็นบ่อบำบัดที่มีฝาปิด แต่ขณะเกิดเหตุไม่แน่ใจว่าฝาปิดอยู่หรือไม่ ประกอบกับจุดนี้ไม่มีกล้องวงจรปิด จึงต้องรอผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางนา อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่า ทางบริษัทพร้อมเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยหลังเกิดเหตุ ทางพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดที่นักศึกษาพลัดตกลงไปพร้อมคนงาน ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบ่อบำบัด เร่งเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน เพื่อหาสาเหตุในการเสียชีวิตในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของบริษัท

ต่อมานายอนันต์ พรหมดนตรี ผอ. งานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสมุทรปราการ นำเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เข้าตรวจสอบค่าปริมาณก๊าซพิษภายในบ่อบำบัดน้ำเสีย พบว่าปริมาณค่าก๊าซแอมโมเนีย อยู่ในระดับ 42 พีพีเอ็ม (ปริมาณที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ อยู่ที่ 300 พีพีเอ็ม) และก๊าซไข่เน่าหรือก๊าซไฮโดรเจน ซัลไฟด์ อยู่ที่ระดับ 11 พีพีเอ็ม (ปริมาณที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ อยู่ที่ 100) ซึ่งก๊าซทั้งสองตัว อยู่ในระดับต่ำกว่าข้อกำหนด ที่จะสามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนการตรวจสอบฝาปิดท่อที่เกิดเหตุพบว่าอยู่ในสภาพปกติ ไม่มีร่องรอยผุกร่อน จึงยังสรุปไม่ได้ว่าพลัดตกลงไปได้อย่างไร หรืออาจจะมีการเปิดฝาทิ้งไว้ ต้องรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบอีกครั้ง

ขณะที่ พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว รองผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวเตือนว่า การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพื้นที่อับอากาศ โดยเฉพาะสถานที่เป็นพื้นที่ปิดหรือมีช่องทางอากาศและออกซิเจนเข้าได้น้อย ผู้ปฏิบัติงานจะต้องส่วมใส่เครื่องช่วยหายใจ และต้องมีอุปกรณ์ส่งสัญญาณอย่างชัดเจน ให้ผู้ที่อยู่ด้านบนเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะผูกด้วยเชือกหรือไฟฉาย รวมถึงก่อนที่จะลงปฏิบัติงานต้องรู้ว่าสถานที่นั้นมีก๊าซชนิดใดอยู่ภายในเพราะก๊าซแต่ละชนิดทำอันตรายต่อร่างมนุษย์แตกต่างกัน แต่โดยส่วนมากตามสถานที่อับอากาศหรือบ่อบำบัดน้ำเสียที่มักจะเกิดเหตุบ่อยครั้ง จะมีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ซึ่งทำอันตรายต่อระบบการหายใจของมนุษย์ทำ ให้ร่างกายขาดออกซิเจน เป็นเหตุให้หมดสติและเสียชีวิต โดยผู้ที่จะเข้าช่วยเหลือต้องมีอุปกรณ์และความรู้ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ “Faculty of Veterinary Science, Chulalongkorn University” ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความแสดงความเสียใจ กรณีน.ส.ปัณฐิกา ตาสุวรรณ เสียชีวิตจากการตกบ่อบำบัด น้ำเสีย ระบุว่า “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัย ต่อการจากไปของ นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 76 นางสาวปัณฐิกา ตาสุวรรณ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560” ขณะเดียวกันมีเพื่อนๆ เข้ามาไว้อาลัยจำนวนมาก

วันเดียวกัน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกสารแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ความว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ น.ส.ปัณฐิกา ตาสุวรรณ นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสีย จากการทัศนศึกษาดูงานบริษัท ซีพีเอฟ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมกับผู้เสียชีวิตอีก 4 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ลงไปช่วยเหลือนิสิต

นับเป็นการสูญเสียนิสิตจุฬาฯ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้ มหาวิทยาลัยพร้อมให้ความช่วยเหลือครอบครัวของนิสิตในทุกๆ ทางที่จะทำได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน