ตำรวจ-ทหารพรึ่บคุมทุกเวทีกิจกรรม 85 ปีเปลี่ยนแปลง การปกครอง 24 มิ.ย.2475 “ส.ศิวรักษ์”เรียกร้อง”เอาคสช.คืนไป เอาประชาธิปไตยคืนมา” กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์กรวดน้ำคว่ำขันวันไม่มีประชา ธิปไตย จี้รัฐบาลคืนอำนาจประชาชน ทหารหิ้วนักกิจกรรมเข้าค่ายมทบ.11 สกัดไปหมุดคณะราษฎร “บิ๊กจิ๋ว”โผล่นั่งกุนซือพรรค อธิปไตยฯ บ่นห่วงบ้านเมือง “สมชาย”สับประชาธิปไตยเตี้ยลง ปลัดมหาดไทยเผยยอดตอบ 4 คำถามนายกฯพุ่งกว่า 2.2 แสนคน อุบลฯแชมป์ ปชป.จ่อยื่นศาลรธน.ชี้ขาดกม.ยุทธศาสตร์ 20 ปีขัดรธน.หรือไม่ สปท.เตรียมชงยกเลิกงบดูงานตปท.ของกรรมา ธิการรัฐสภา ผิดจริยธรรมเจอโทษหนัก ถ้าร้ายแรงโดนปรับ 1-5 แสน ป.ป.ช.โต้”ปู”ไม่เคยบี้สอบนักการเมืองพยานคดีจำนำข้าว

 

เสวนา 85 ปีโค่นมรดกคณะราษฎร

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเสวนาวิชาการในโอกาส ครบรอบ 85 ปี การอภิวัฒน์ 2475 หัวข้อ “ขุดรากถอนโคน โค่นมรดกคณะราษฎร” ก่อนเริ่มการเสวนา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญวิทยากรทั้งหมดเข้าพูดคุยทำความเข้าใจถึงกรอบและเนื้อหาในการพูดครั้งนี้ ประมาณ 10 นาที และในห้องเสวนามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาร่วมสังเกตการณ์จำนวนหนึ่ง ทำให้ในระหว่างการพูดของวิทยากร จะแซวเป็นระยะๆ ว่าพูดแบบนี้แล้วตำรวจจะจับหรือไม่

สำหรับเนื้อหาในการเสวนา วิทยากรจะพูดย้อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่เกิดคณะราษฎร รวมทั้งเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในแง่มุมต่างๆ ขณะที่ผู้ดำเนินการเสวนาได้กล่าวขอบคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อนุญาตให้ใช้สถานที่เสวนาครั้งนี้ โดยผู้จัดงานได้นำหมุดคณะราษฎรจำลองมาตั้งไว้บนเวทีเสวนาด้วย ซึ่งบรรยากาศในการเสวนาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ส.ศิวรักษ์เรียกร้องเอาคสช.คืนไป

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม กล่าวว่า 24 มิ.ย.2475 เป็นวันสำคัญที่สุดของคนไทย ถือเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคณะราษฎรมีความต้องการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบสหรัฐ ทำให้ที่ผ่านมาเราดำเนินนโยบายเอาใจสหรัฐ อย่างไรก็ตามเรายังยึดติดกับค่านิยมของความเป็นศักดินาที่มีมาก่อนสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ผ่านมาสังคมไทยยังมีลักษณะฝากความหวังไปที่คนๆ เดียว ให้เขาจัดการแก้ปัญหาทุกอย่างให้ ตนขอถามว่ามีความถูกต้องหรือไม่ ขอถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย

สำหรับเรื่องนี้ ตนเห็นว่าประเทศไทยควรมีการจัดการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม และถ้าต้องการให้การอภิวัฒน์ 2475 เป็นความจริงจะต้องย้อนมองไปยังอดีต เพราะแม้ว่ารัชกาลที่ 5 จะยกเลิกการกราบกรานไปแล้วแต่เรื่องเหล่านี้ยังอยู่ในสังคมไทยอยู่ดี มีการกราบไหว้ เข้าหาผู้มีอำนาจ เพราะผู้กราบก็ต้องการทรัพย์สิน ผู้ที่ถูกกราบก็รู้สึกว่ามีอำนาจมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีที่มาตั้งแต่การศึกษาของเราที่สอนให้เข้าหาวัตถุมากกว่าการหาความสุขในชีวิต ดังนั้นเราต้องมามองกันที่หัวใจสำคัญของประชาธิปไตย คือการให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียง รับฟังและพูดคุยกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร หากต้องการพ้นหล่มตรงนี้ออกไปได้ ทุกคนจะต้องมีสิทธิมีเสียงกล้าพูดคุยความจริงต่อกัน และผู้มีอำนาจจะต้องรับฟังด้วย และขอเรียกร้องให้เอาคสช.คืนไป เอาประชาธิปไตยคืนมา

ทายาทพระยาพหลเปิดใจ

ด้าน พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่พระยาพหลฯ ได้ร่วมคณะปฏิวัติ ก่อนที่จะกำเนิดเป็นคณะราษฎร ทำให้วันนี้ตนได้ใส่เสื้อติดเหรียญมากมาย มีเหรียญหมุดคณะราษฎรด้วย ซึ่งของจริงที่ไม่รู้ว่าหายไปไหน ถือเป็นความภาคภูมิใจของตนและครอบครัว ที่พ่อของตนและคณะราษฎรนำระบอบประชาธิป ไตยมาให้คนไทย และการปฏิวัติในประเทศไทยมีมากี่ครั้งก็ไม่ยอมรับ ตนรับได้ครั้งเดียวคือครั้งที่คุณพ่อตนทำ เพราะครั้งนั้นไม่มีนิรโทษกรรม ถ้าทำไม่สำเร็จก็เจ็ดชั่วโคตร เป็นการเอาชีวิตเข้าแลก กับระบอบประชาธิปไตยให้กับปวงชนชาวไทย

นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการอิสระ ด้านกฎหมาย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการ “อภิวัฒน์สยาม” เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 คือการทำให้คนเป็นคน จากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมาเป็นข้าราษฎร จนเป็นราษฎรในที่สุด คณะราษฎรได้เปลี่ยนอำนาจในการกำหนดชีวิตคนโดยคนๆ เดียวในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐ ด้วยการสถาปนา สิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุด โดยไม่มีองค์กร บุคคลหรืออำนาจใดสูงกว่านี้อีก

“เอกชัย”ระบุกม.ไม่ใช่มรดก

นายเอกชัยกล่าวว่า คณะราษฎรเลือกระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาเป็นระบอบการปกครอง โดยแบ่งการใช้อำนาจเป็น 3 ส่วน อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าองค์กรตุลาการ เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยราษฎรที่ยังไม่ยึดโยงกับประชาชน เป็นองค์กรในระบอบเก่าที่มีการเปลี่ยนระบอบ แต่องค์กรยังไม่เปลี่ยน นักวิชาการหลากหลายให้ความสำคัญและสนใจในอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แต่ไม่ได้ตระหนักว่า อำนาจตุลาการ ซึ่งโดยเนื้อแท้เป็นอำนาจอธิปไตยที่มาจากราษฎร เจ้าของอำนาจ ซึ่งมีการพูดถึงน้อยมาก กระทั่งการเกิดขึ้นของคณะนิติราษฎร กฎหมายเป็นเครื่องมือในความชอบธรรมของอุดมการณ์ของระบอบเท่านั้น

“กฎหมายไม่ใช่มรดกของคณะราษฎร แต่อุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาต่างหากที่เป็นมรดก และคณะราษฎรจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับอำนาจตุลาการ จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้อำนาจนี้ มีสำนึกว่า อำนาจที่ใช้มาจากประชาชน สร้างความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์ คณะราษฎรไม่ใช่กลุ่มคน 115 คน แต่เป็นแนวคิดของคนเท่ากัน อยู่กันด้วยกฎหมายที่มาจากคนเท่ากัน ตัดสินด้วยคนที่คนเท่ากันเลือกมา และใช้พื้นที่ในการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ยอมรับในความแตกต่าง บนพื้นฐานของการเลือกตั้ง และเสียงข้างมาก” นายเอกชัยกล่าว

กลุ่มเสรีเกษตรจัดงานวันไม่มีปชต.

เมื่อเวลา 09.00 น. ที่บริเวณลานหน้าเจดีย์ขาว วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ จำนวน 5-6 คน ร่วมกันจัดกิจกรรม “ทำบุญกรวดน้ำคว่ำขัน วัน (ไม่มี)ประชาธิปไตย” เพื่อรำลึกถึงคณะราษฎรผู้อภิวัตรสยามเป็นปฐมบทแห่งประชาธิปไตยไทย เนื่องในวันครบรอบ 85 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยกิจกรรมภายในวัดพระศรีมหาธาตุ ประกอบด้วย การทำความเคารพคณะราษฎร ทำบุญถวายสังฆทาน และกรวดน้ำ

ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจาก สน.บางเขน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ประมาณ 1 กองร้อย และกองร้อยน้ำหวาน กระจายกำลังอยู่โดยรอบพื้นที่วัด เพื่อคอยสังเกตการณ์และดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไม่ได้มีการเชิญตัวผู้ที่ทำกิจกรรมไปที่สถานีตำรวจแต่อย่างใด

ภายหลังเสร็จการทำบุญถวายสังฆทานและกรวดน้ำ กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ได้เดินเท้ามายังบริเวณด้านข้างอาคารพุทธวิชชาลัย ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์บางเขน หรือวงเวียนหลักสี่ เพื่อทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์จับนิสิตนักศึกษาจากกิจกรรมปัดฝุ่นประชาธิปไตย เมื่อปี 2559 ที่บริเวณด้านข้างอาคารพุทธวิชชาลัย ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์บางเขน หรือวงเวียนหลักสี่ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่นิสิตนักศึกษาที่ร่วม กันจัดกิจกรรมในครั้งนั้นถูกเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัว

อ่านแถลงการณ์ประณามรัฐบาล

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ได้อ่านบทเพลงชื่อ For What It”s Worth ของศิลปิน buffalo springfield หรือชื่อเพลงว่า สำหรับสิ่งที่คุ้มค่า ซึ่งเป็นบทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นเมื่อปี 1967 แต่ยังสามารถนำมาใช้กับบริบทของประเทศไทยในปัจจุบันได้อยู่

ต่อมาเวลา 09.30 น. ตัวแทนกลุ่มได้อ่านแถลงการณ์ว่า เนื่องในวันที่ 24 มิ.ย. พ.ศ.2475 อันเป็นวันประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย พวกเรานักศึกษาและประชาชน กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ได้ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ เพื่อแสดงถึงการตระหนักให้ความสำคัญ และจะไม่หลงลืมบทบาทของกลุ่มคณะราษฎรต่อการริเริ่มความเป็นประชาธิปไตยของไทย รวมไปถึงการรำลึกการจับนักศึกษากลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์จากเหตุการณ์ “24 มิถุนา ปัดฝุ่นประชาธิปไตย” เมื่อปี 2559

ตัวแทนกลุ่มระบุต่อว่า งาน “ทำบุญกรวดน้ำคว่ำขันวัน “ไม่มี” ประชาธิปไตย” ในวันนี้จึงได้เกิดขึ้น เพื่อสื่อว่าแม้จะเป็นโอกาสครบรอบ 85 ปีของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แต่ประเทศไทยในวันนี้ยังไม่มีประชาธิปไตย ทางกลุ่มเสรีเกษตรจึงมีจุดยืน ณ ที่นี้ ว่า 1.ขอประณามการกระทำของรัฐอันเป็นการทำลายหรือล้มล้างระบอบประชา ธิปไตยอันเป็นของประชาชนทุกคน 2.ขอประณามการกระทำที่รุนแรงอันไร้มนุษย ธรรม ป่าเถื่อน ของรัฐบาลต่อกลุ่มประชาชนไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตาม

จี้คืนอำนาจให้ประชาชน

3.ขอสนับสนุนทุกการกระทำของประชาชนในสิทธิที่แสดงออกในทางการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น และต่อต้านทุกการกระทำโดยเฉพาะจากรัฐบาลต่อการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพส่วนนี้ อันเป็นความพยายามปล้นชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยไปจากประชาชนไทยทุกคน และขอให้คืนการปกครองสู่ระบอบประชาธิป ไตยอันเป็นเป้าหมายของคณะราษฎรและของปวงชนชาวไทยโดยทันที

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มเปิดเผยด้วยว่า ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมนี้เมื่อประมาณ 2 วันที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ไปสอบถามว่าจะมีการทำกิจกรรม และยังมีเพื่อนในกลุ่มถูกเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจเดินทางไปเยี่ยมที่บ้านด้วย โดยไปพบพ่อและแม่ อีกทั้งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมายังมีเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าที่หน้าบ้านอีกด้วย เรามาทำบุญ 85 ปีประชาธิปไตย รวมถึงรำลึกถึงคณะราษฎร เป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นโดยประชาชนในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยควรทำได้ แต่ครั้งนี้มีการโทรศัพท์ไปหาเราและอาจารย์ของเรา โดยบอกว่าจะมาทำบุญที่วัดได้ขออนุญาตกับทางวัดหรือยัง ซึ่งเรางงว่าการทำบุญต้องมีการขออนุญาตด้วยหรือ

จนท.เชิญ”เอกชัย”เข้ามทบ.11

อีกด้านหนึ่ง นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ในเวลา 08.40 น. นายเอกชัย หงส์กังวาล ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับขึ้นรถตู้ มุ่งหน้า มทบ.11 โดยได้รายงานสถานการณ์เป็นระยะๆ ว่ายังคงถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวอยู่ โดยแจ้งว่าไม่อยากให้ไปทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสอบสวน

รายงานข่าวจากเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เปิดเผยว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้เชิญตัวนายเอกชัยมาพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจในการทำกิจกรรมดังกล่าวเท่านั้น

“บิ๊กจิ๋ว”เป็นห่วงบ้านเมือง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และประธานที่ปรึกษาพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย (อปท.) ให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานอำนาจทั้งหมดของพระองค์ให้แก่ประชาชน ไม่ได้พระราชทานให้แก่คณะใดคณะหนึ่ง หรือผู้ใดผู้หนึ่ง จึงขอแสดงความห่วงใยไปยังรัฐบาลและผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่าขณะนี้ประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว ขอให้เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้แก่พี่น้องประชาชนโดยเร็ว ที่สำคัญขอให้สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น อย่าเลือกปฏิบัติอย่างที่เป็นอยู่

ตนอยู่มาจนอายุ 85 แล้ว ผ่านอะไรมามาก ยอมรับว่าเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง สำหรับคำถามที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้ไว้ 4 ข้อนั้น ขอตอบง่ายๆ ว่าทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน ให้ประชาชนเป็นผู้แก้ อย่าคิดแทน นายกฯ ก็คือประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน

อปท.เสนอตัวเป็นก๊กที่ 3

นาวาอากาศเอก (พิเศษ) คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ เลขาธิการและรักษาการหัวหน้าพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย กล่าวว่า อปท.เกิดขึ้นจากการรวมตัวของพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ ที่ต้องการสร้างอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นเหมือนสหพรรค กลุ่ม แก๊ง หรือแล้วแต่อะไรก็ตามที่ท่านอยากจะเรียก เราคือก๊กที่ 3 ไม่ใช่ก๊กของทหาร หรือก๊กของกลุ่มการเมืองเดิม เราเป็นก๊กของพี่น้องประชาชน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หลายท่านถามว่าทำไมเราถึงออกมาต่อสู้เพื่อพี่น้องกลุ่มนั้นกลุ่มนี้หลายครั้ง ถึงแม้ขณะนี้พรรคยังไม่ได้จดทะเบียน และถูกห้ามทำกิจกรรมด้านการเมือง ไม่กลัวหรือ ก็ต้องบอกว่าที่รัฐบาลทำในขณะนี้ล้วนเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น

อปท.มีความมุ่งมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจ ที่จะมุ่งทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อพี่น้องประชาชน เมื่อพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นคนในครอบครัวไม่ว่าจะอยู่กับฝ่ายไหนเดือดร้อนไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล เราก็ต้องออกมาช่วยเหลือ ถ้าเป็นท่านบ้างท่านกำลังจะตายจะให้ทำอย่างไร จะปล่อยให้นอนตายรับชะตากรรมหรือ ต้องเรียนว่าเราทนอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ขณะนี้มีเรื่องพี่น้องร้องเรียนมาเยอะมาก ซึ่งเราก็พยายามช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้

“สมชาย”สับปชต.ไทยเตี้ยลง

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กล่าวถึงทิศทางประชาธิปไตย ในวันครบรอบ 85 ปี ของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ว่า ประชาธิปไตยไทยยิ่งเตี้ยลงเรื่อยๆ คือ ไม่มีการส่งเสริมให้พัฒนาประชาธิปไตยอย่างจริงจังเหมือนประเทศที่เริ่มต้นประชาธิปไตยพร้อมกับไทย เช่น ยุโรป ซึ่งเขาพัฒนาไปไกลเพราะทุกคนในประเทศนั้นเห็นว่าระบอบนี้เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุดและได้ช่วยกันพัฒนาต่อเนื่อง ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนต้องปล่อยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์แม้จะล้มลุกคลุกคลานก็เป็นสิทธิของเขา จะไปคิดว่าเก่งกว่าและไม่ไว้ใจประชาชนไม่ได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า กฎ กติกา ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อมีรัฐบาลใหม่ อาจเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพของรัฐบาล นายสมชายกล่าวว่า ระเบียบที่ออกมายังไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบใครๆ ก็รู้ ถ้ากติกายังเป็นแบบนี้ประเทศก็ยังล้มลุกคลุกคลานกันอยู่

เมื่อถามว่านักวิชาการบางคนแสดงความเห็นว่าแม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ยังมีการสืบอำนาจของทหารออกไปอีก 10 ปี นายสมชายกล่าวว่า อยากถามว่าอำนาจจะเอาไปทำอะไร เพราะอยู่ได้ก็อีกไม่กี่ปี ควรจะสร้างวีรกรรมให้ประชาชนรุ่นหลังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างมีความสุขจะดีกว่า แต่บางคนอาจจะคิดสวนทางว่าประชาธิปไตยไม่ดี การสืบทอดอย่างนี้มีความสุขกว่า แต่ในทางพุทธนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าจิตใจดีเป็นกุศลก็เป็นกุศล ถ้าจิตใจเป็นอกุศลก็ไม่ได้กุศลอะไร

อัดระบบไพรมารี่โหวต

นายสมชายยังกล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเลือกตั้งแบบไพรมารี่โหวตว่า เท่าที่ศึกษาระบบไพรมารี่โหวตไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพราะในหลายประเทศทั้งสหรัฐและยุโรปก็ใช้กันและสมบูรณ์แบบในตัวเอง โดยระบบนี้ในอเมริกาใช้ในการเลือกประธานาธิบดี โดยหยั่งเสียงประชาชนว่าจะส่งใครลงสมัครเป็นประธานาธิบดี ประชาชนในเขตนั้นๆ จะไปหย่อนบัตรว่าจะเลือกใคร จากนั้นพรรคก็ไปหาเสียง เมื่อใครได้รับเลือกจึงสนับสนุนขึ้นมาชิงตำแหน่ง แต่ของไทยไม่ใช่อย่างนั้น การให้สมาชิกพรรคแค่ 100 คนไปคุยกันแล้วไปเลือกกันว่าจะเอาอย่างไร เหมือนหัวมังกุฎท้ายมังกร ชื่อเป็นไพรมารี่โหวตแต่วิธีการนำไปปฏิบัติจริงไม่ใช่เหมือนประเทศอื่นเขาทำกันทั่วไป มองว่าเจตนาของการทำแบบนี้เหมือนกีดกันไม่ให้ผู้บริหารของพรรคทำงานได้อย่างสะดวก

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ตนไม่ทราบว่าทางพรรคเพื่อไทยได้เตรียมตัวในเรื่องของผู้สมัครเอาไว้อย่างไรบ้างเพราะไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่หากกฎหมายออกมาในขณะที่พรรคยังไปดำเนินการคัดสรรผู้สมัครไม่ทันก็อาจจะทำให้เสียสิทธิ์ในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองก็อ่อนแอ เพราะคนที่ไม่ได้มาจากระบบพรรค ซึ่งจะทำให้เกิดการได้เปรียบกันหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้จะยุ่งเพราะพรรคการเมืองมีเป็นร้อยพรรค ซึ่งอาจทำไม่ทันจึงคงต้องมีการอะลุ้มอล่วยและในความรู้สึกตนคิดว่าระบอบเดิมดีอยู่แล้ว

“ตือ”จวกจ้องกำจัดนักการเมือง

ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนบอกแต่แรกแล้วว่าระบบไพรมารี่โหวตเป็นการใช้กับระบบประธานาธิบดี ทำไมไม่ทำไพรมารี่โหวตกับนายกฯ ไม่มีใครเขาทำไพรมารี่โหวตส.ส. การทำอะไรที่ฝืน อคติกับนักการเมืองจนกระทั่งคิดแต่จะกำจัดนักการเมืองอย่างเดียว จนลืมความถูกต้อง ลืมดูความเป็นไปได้ ที่มาบอกทำ 10 วันก็เสร็จ คุณไม่เคยอยู่ในระบบพรรคการเมือง ไม่รู้หรอกว่าเป็นอย่างไร มันผิดตั้งแต่ติดกระดุมเสื้อเม็ดแรกแล้ว จะเขียนกฎหมายให้เป็นประชา ธิปไตย แต่ไปเอาเผด็จการมาเขียนจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร เมื่อนักวิชาการที่ไม่ใช่นักการเมือง ได้พูดสะท้อนจากประวัติศาสตร์ จากสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เราต้องฟังเสียงบ้าง อย่าถือทิฐิ แล้วตั้งธงจะเอาอย่างนี้แล้วต้องได้อย่างนี้ ในระบอบประชา ธิปไตยไม่มีใครที่อยากได้ร้อยแล้วได้ร้อย หรือไม่มีใครเสียร้อย แล้วต้องเสียร้อย ต้องมีการแบ่งปันส่วนกัน

นายสมศักดิ์กล่าวว่า เวลานี้ไม่ใช่แค่นักการเมือง หรือนักวิชาการ แต่เป็นเรื่องของคนที่มีจิตใจและเข้าใจระบบทางการเมืองเขาจะรู้ว่าเป็นอย่างไร เจตนาเพื่ออะไร ตั้งใจกำจัดนักการเมือง แล้วเอาคนนอกเข้ามาดำรงสถานะเป็นนายกฯมากกว่า เมื่อถามว่ามีโอกาสหรือไม่ที่พรรคการเมืองทั้งหมดจะจับมือยื่นหนังสือให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรม นูญ (กรธ.) ทบทวน นายสมศักดิ์กล่าวว่า อยู่ที่คสช.มากกว่า กรธ.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามที่คสช.ต้องการเท่านั้นเอง คุณทำมาไม่ถูกใจเขาพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอด ดูได้จากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เขียนด้วยมือยังลบด้วยเท้าได้เลย ดังนั้นระบบทั้งหมดอยู่ที่คสช.ว่าต้องการเห็นประเทศเป็นอย่างไร

มท.เผยตอบ4คำถามพุ่ง2.2แสนคน

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาด ไทย (มท.) เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ รวมทั้งขอความร่วมมือกรุงเทพ มหานครและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดสถานที่รับฟังความคิดเห็นต่อคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.เป็นต้นมา และได้เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น

โดยยอดสะสมผู้เดินทางมาแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามในวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาครบ 10 วันแรก มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 220,804 คน จังหวัดที่มีผู้แสดงความคิดเห็นมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี 27,843 คน ขอนแก่น 20,658 คน และสกลนคร 16,658 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล โดยศูนย์ดำรงธรรมอำเภอจะรวบรวมความคิดเห็นและคำตอบจัดส่งไปที่จังหวัด เพื่อให้คณะทำงานกลั่นกรองสรุปผลการตอบคำถามและการแสดงความคิดเห็นระดับจังหวัดประมวลผล แล้วจึงจัดส่งมาที่กระทรวงมหาดไทยประมวลและสรุปภาพรวมกระทรวง เพื่อจัดส่งข้อมูลไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน

จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามของนายกฯ ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ที่ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (1111) ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์กรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการประชาชนสำนักงานเขตทุกเขต ศูนย์บริการร่วมจังหวัด และจุดบริการด่วนมหานคร

ปชป.จ่อยื่นศาลชี้กม.ยุทธศาสตร์

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าหากไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีความผิดถึงขั้นติดคุกว่า อยากถามว่าเรื่องนี้ชอบธรรมหรือไม่ สำหรับรัฐบาลในอนาคตอีก 20 ปี มีประเด็นน่าคิดคือ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญใหม่บอกว่า การออกกฎหมายต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างรอบด้านก่อน ดังนั้นความชอบของกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ไป มีปัญหาและไม่ง่าย เรื่องขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญเป็นมุมสำคัญ ถ้ารัฐบาลหรือผู้ออกกฎหมายลุแก่อำนาจ ไม่คำนึงถึงเสียงประชาชน ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เพราะการเขียนกฎหมายมัดมือ ปิดกั้นดุลพินิจรัฐบาลในอนาคตให้ต้องปฏิบัติตามจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องเฉพาะหน้าหรือกะทันหันได้ยาก

“ใครจะรู้วันข้างหน้าจะเกิดเรื่องร้ายแรงอันตรายแค่ไหน เรื่องนี้ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน เพราะไปออกกฎหมายมัดมือชกกระทบอนาคตประเทศใหญ่หลวงโดยไม่ถามประชาชนก่อน ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์กำลังหารือกันในเรื่องนี้ เพราะถือว่าอันตราย กระทบอนาคตชาติ โดยกำลังหารือกันว่าจะยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือเดินในช่องทางอื่นตามกรอบที่รัฐธรรม นูญเปิดช่องไว้ให้ทำได้ ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่”นายวิรัตน์ กล่าว

สปท.จ่อชงเลิกงบดูงานตปท.

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุม สปท.วันที่ 27 มิ.ย. กมธ.จะเสนอรายงานการปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภาให้ที่ประชุมสปท.ให้ความเห็นชอบ สาระสำคัญรายงานดังกล่าวคือการปฏิรูปการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา รวมทั้งสำนักงานเลขา ธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาที่มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติให้เกิดประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ

โดยมีสาระสำคัญ อาทิ การเสนอยกเลิกการจัดสรรงบประมาณการศึกษาดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมากมธ.ทั้งสองสภามักจัดสรรงบประมาณจำนวนมากไปดูงานต่างประเทศแต่ละปีหลายครั้ง โดยใช้ภาษีของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติพบว่า แฝงการไปท่องเที่ยว ไม่ได้ไปดูงานจริง ไม่สามารถประเมินความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณได้ จึงควรยกเลิกการดูงานต่างประเทศทั้งหมด หากกมธ.คณะใดอยากไปดูงานต่างประเทศต้องออกงบประมาณเอง ยกเว้นการเดินทางไปประชุมองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ หรือประชุมทวิภาคีระหว่างรัฐสภาต่างประเทศให้ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการเดินทางไปราชการโดยเคร่งครัด

นอกจากนี้ยังเสนอให้ยกเลิกการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแบบพกพาให้แก่สมาชิกรัฐสภาด้วย เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาทุกคนมีสมาร์ตโฟนที่มีคุณภาพเทียบเท่าเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่รัฐสภาจัดให้สมาชิกอยู่แล้ว หากไปจัดหาเครื่องคอมพิว เตอร์ให้อีกจะสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

เพิ่มบทลงโทษทำผิดจริยธรรม

นายเสรีกล่าวว่า ขณะเดียวกันกมธ.ยังมีข้อเสนอเรื่องการสร้างมาตรฐานจริยธรรมสมาชิกรัฐสภา โดยเสนอให้มีการตราข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยระบุให้ชัดเจนว่าพฤติการณ์แบบลักษณะใดเป็นการผิดจริยธรรมที่ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง รวมทั้งจะมีบทลงโทษเช่นใดบ้าง เพราะที่ผ่านมาประมวลจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาขาดความชัดเจนในการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม เพราะไม่ได้กำหนดระดับความร้ายแรงของการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมและบทลงโทษที่ชัดเจนไว้ ดังนั้นจึงควรมีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมให้ชัดเจน หลังจากเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว โดยนำมาตรฐานจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญวางมาตรฐานกลางไว้มาบังคับใช้

ทั้งนี้กมธ.มีข้อเสนอขั้นตอนการลงโทษการกระทำผิดจริยธรรมตามระดับความร้ายแรงดังนี้ 1.กรณีฝ่าฝืนจริยธรรมไม่ร้ายแรง อาทิ การขาดประชุม การเซ็นชื่อโดยไม่เข้าประชุม ให้มีบทกำหนดโทษว่ากล่าวตักเตือน และให้ผู้ฝ่าฝืนลงนามรับรองการฝ่าฝืนในครั้งนั้น เป็นลายลักษณ์อักษร หากมีการฝ่าฝืนจริยธรรมเกิดขึ้นอีก ผู้ฝ่าฝืนต้องแสดงความรับผิดชอบโดยการขอโทษต่อที่ประชุมสภา หากยังกระทำผิดมากกว่าสองครั้งขึ้น ถือเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก ถือว่าเข้าข่ายกระทำผิดร้ายแรง

เข้าขั้นร้ายแรงโดนโทษปรับด้วย

นายเสรีกล่าวว่า 2.กรณีฝ่าฝืนจริยธรรมที่ร้ายแรง เช่น การเสียบบัตรแทนกัน การใช้ความรุนแรงชกต่อย การขว้างปาสิ่งของต่างๆ หรือการแสดงพฤติกรรมคุกคามข่มขู่สมาชิกด้วยกันในห้องประชุมสภา รวมถึงพฤติกรรมประพฤติผิดศีลธรรมที่กระทบต่อชื่อเสียงเกียรติภูมิของการเป็นสมาชิกรัฐสภา ต้องถูกลงโทษทั้งทางประมวลจริยธรรม และทางสังคมควบคู่กันไปด้วย อาทิ การขอโทษต่อที่ประชุมสภา การตัดสิทธิต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าตอบแทน การขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมถึงการให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อเท็จจริงการกระทำผิดให้สาธารณชนรับทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ยังให้มีบทลงโทษทางแพ่งร่วมด้วย เช่น การปรับเงิน 100,000-500,000 บาท

ทั้งนี้การจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมภายในองค์กรเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติตนของสมาชิกให้เป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรม ให้คัดเลือกจากบุคคลที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์ เป็นผู้ที่สมาชิกให้ความเคารพศรัทธาโดยใช้มติเสียงข้างมากของที่ประชุมสภา

ป.ป.ช.โต้ปมบี้พยานคดีข้าว

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2560 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนพยานฝ่ายจำเลย คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงต่อศาลก่อนสืบพยานว่า พยานที่เป็นนักการเมืองของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อสืบพยานเสร็จแล้วมักถูกป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อ ทำให้ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานให้ว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน และไม่น่าเป็นประเด็นที่ต้องยกขึ้นแถลงต่อศาล นักการเมืองที่น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างเช่นนั้นอาจเป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นเคยถูกกล่าวหา หรือถูกไต่สวนก่อนหน้านี้อยู่แล้วหรือไม่ ตนยืนยันว่าป.ป.ช.ไม่มีทางดำเนินการตามรูปแบบนั้นแน่นอน

เมื่อถามถึงกรณีที่มีเอกชนบางรายกลับคำให้การจากชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนที่บอกว่าไปพบนักการเมืองใหญ่ แต่ในชั้นพนักงานอัยการเรียกทำความเบิกศาลว่าไปพบผู้ใหญ่เพื่อตกลงธุรกิจข้าว ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นายสรรเสริญกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ตามกฎหมายป.ป.ช.หากพบว่ามีการกลับคำให้การจริง คงต้องนำมาพิจารณาต่ออีกว่าขัดกับกฎหมายป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับการกันพยานหรือไม่ แต่รายละเอียดเชิงลึกอยู่ในชั้นคณะอนุกรรมการไต่สวน จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเอกชนรายดังกล่าวกลับคำให้การหรือไม่ และคณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการอย่างไร เท่าที่ทราบขณะนี้คือยังไม่มีการรายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.

พท.เผยชาวนาส่งกำลังใจถึง”ปู”

นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีที่มีคลิปพี่น้องชาวนาหลั่งน้ำตาเพื่อระบายความรู้สึกของตัวเอง และแสดงความเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่หลั่งน้ำตา ระหว่างการทำบุญวันเกิดครบ 50 ปีที่วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่พี่น้องชาวนาซึ่งเห็นคนที่ทำนโยบายเพื่อช่วยเหลือให้ลืมตาอ้าปากได้ แต่กลับได้รับความทุกข์ก็รู้สึกเป็นทุกข์ไปด้วย ทุกคนจึงให้กำลังใจอดีตนายกฯ และมีหลายคนบอกว่าจะเดินทางมาให้กำลังใจถึงบ้านที่พักใน กทม.รวมทั้งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นจำนวนมาก จนต้องขอร้องให้ฝากกำลังใจจากที่บ้านก็พอแล้วเพราะไม่อยากเป็นประเด็นทางการเมือง

อย่างไรก็ตามฝากถึงรัฐบาลให้ช่วยดูแลชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากในหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายจากฝนที่ตกชุกเมื่อต้นเดือนมิ.ย.ส่งผลให้ข้าวที่หว่านไปเน่าตาย ไม่มีพันธุ์ข้าวไปหว่านอีกและต้องหยิบยืมญาติพี่น้องช่วยกันไปตามมีตามเกิด ขอให้ทางรัฐบาลเข้าไปดูแลด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน