จากกรณีที่โลกโซเชี่ยลมีการแชร์ภาพ ใบเบิกค่าจ้างล่วงเวลาของนายสถานี ซึ่งคิดแล้วรวมเป็นเงิน 102,271 บาท ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า ค่าล่วงเวลาเกือบ 24 ชั่วโมง เป็นไปได้อย่างไรนั้น

 

นายอารยะ ปิณฑะดิษ ผอ.ฝ่ายบริการโดยสาร การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รายการเบิกเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินกำหนดเวลาทำงานปกติ ของพนักงานฝ่ายปฏิบัติการเดินรถของ รฟท. ที่มีการแชร์และวิพากษ์วิจารณ์กันมาในโลกโซเชียลว่า เป็นใบรายการเบิกค่าล่วงเวลาของจริงทั้งในส่วนของวันที่ทำงานล่วงเวลาและจำนวนเงินที่ระบุในใบเบิก เนื่องจากพนักงานคนดังกล่าวมีการทำงานล่วงเวลาเป็นเวลา 1 เดือนเต็มในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพราะรฟท. อยู่ระหว่างการเร่งรัดงานซ่อมบำรุงทางในเส้นทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงจำเป็นต้องขอร้องให้นายสถานีคนดังกล่าวทำงานล่วงเวลาทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้งานการซ่อมทางเดินต่อไปได้เร็วและสามารถเปิดให้บริการประชาชน 3 จังหวัดชายแดนได้รวดเร็ว โดยอัตราค่าล่วงเวลาที่ทำการเบิกเฉลี่ยวันละ 2,040 บาท นั้นก็สอดคล้องกับอัตราเงินเดือนของพนักงานคนดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นระดับนายสถานีชั้น 1 อัตราเงินเดือน 61,100 บาท

 

“ ปกติสถานีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสถานที่มีความเสี่ยงภัยกว่าที่อื่น ทำให้ปัจจุบันรฟท.ได้ส่งนายสถานีไปประจำแค่คนเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ปฎิติบัติงานตามเวลาราชการในทุกๆวัน ดังนั้น หาก รฟท. จะมีให้การทำงานนอกเวลาซ่อมทางก็จำเป็นต้องขอให้นายสถานีคนดังกล่าวมาทำโอทีให้เพราะเรามีพนักงานประจำแค่คนเดียว ที่สำคัญนายสถานีคนนี้ก็ไม่ได้เบิกโอทีเป็นแสนทุกๆ เดือน เพราะเดือนอื่นๆ เค้าก็ทำงานปกติ ได้แค่เงินเดือนเท่านั้น แต่เคสนี้เป็นกรณีพิเศษที่รถไฟเร่งซ่อมทาง”นายอารยะ กล่าว

 

นายอารยะ กล่าวต่อว่า เพื่อตอบข้อสงสัยของสังคมที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้ รฟท. จะขอนำใบเบิกค่าล่วงเวลาดังกล่าวมาตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง หลังจากนั้นจะชี้แจงให้รับทราบว่ามีข้อสรุปอย่างไร อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการเบิกค่าล่วงเวลาในลักษณะนี้อีกประมาณ 10 ราย เนื่องจากในช่วงเดือนพ.ค. รฟท. มีการเร่งรัดให้นายสถานีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกสถานีเร่งรัดทำงานซ่อมทาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน