เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 กันยายน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ โครงการบันทึก 6 ตุลา จัดโครงการสัมมนา “เผชิญความอยุติธรรมด้วยการบันทึกประวัติศาสตร์” โดยมีการเปิดตัวเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” ซึ่งหน้างานมีนิทรรศการ “ปริศนาความตายกรณี 6 ตุลา” แสดงข้อมูลลำดับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การล้อมปราบและความตกหล่นของข้อมูลผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อันเป็นที่มาให้เกิดการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตของโครงการ ซึ่งผู้ร่วมงานให้ความสนใจอ่านข้อมูลที่นำมาจัดแสดง

 

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการเปิดตัวเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” ว่าโครงการนี้เป็นการทำงานต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่มีการจัดเสวนาเรื่องนี้ มีความเข้าใจว่าผู้เสียชีวิตที่ถูกแขวนคอมี 5 คน แต่เรารู้ชื่อคนเดียว คือ คุณวิชิตชัย อมรกุล หลังจากนั้นมีคนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม จนตอนนี้เรารู้ชื่อแล้ว 3 ใน 5 คน แต่อีก 2 คนเรายังไม่รู้จักซึ่งเป็นรูปที่เราเห็นมากที่สุด ถ่ายโดย นีล อูเลวิช (รูปฟาดเก้าอี้) เราจึงทำนิทรรศการขนาดย่อยอธิบายว่ามีข้อมูลผู้ถูกแขวนคอ แต่ยังไม่มีข้อมูลผู้ถูกเผา 4 คนและผู้หญิงที่ถูกทำร้ายและล่วงละเมิดทางเพศ และผู้ชายที่ฟาดเก้าอี้ใส่คนถูกแขวนคอ

“เรายังไม่รู้อะไรอีกมากเกี่ยวกับเรื่อง 6 ตุลา 41ปี ที่ผ่านมายังไม่มีการรวบรวมข้อมูลรูปถ่าย วิดีโอ ยังกระจัดกระจายอยู่ มีการใช้ข้อมูลตัวเลขที่สับสนผิดๆ ถูกๆ อีกมาก งานที่ศึกษาเรื่องหกตุลาอย่างลึกซึ้งยังมีจำกัด เวลาสังคมพูดว่าควรเรียนรู้เรื่องหกตุลาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่เราคงเรียนรู้ไม่ไ้ด้มาก หากยังมีการศึกษาไม่เพียงพอ ไม่ใช่เพียงบอกว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ

 

“เราจึงตั้งใจสร้างฐานข้อมูลออนไลน์ เพื่อจัดระบบข้อมูลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่ให้ถูกหลงลืมสูญหายหากให้ราชการจัดเก็บฝ่ายเดียว จุดประสงค์โครงการต้องการต่อความสนใจการค้นคว้าให้ไปไกลมากขึ้นในอนาคต ต่อสู้กับความพยายามของรัฐที่จะทำให้คนลืมหกตุลา” รศ.ดร.พวงทองกล่าว

 

เว็บไซต์สามารถเข้าถึงได้ที่ www.doct6.com ซึ่งทางโครงการเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งภาพเสียง วิดีโอ โดยสามารถติดต่อทีมงานมาได้ทางอีเมล์ [email protected]

จากนั้นเป็นการฉายภาพยนตร์ “สองพี่น้อง” (The Two Brothers) และพูดคุยกับ น.ส.ภัทรภร ภู่ทอง ผู้อำนวยการสร้าง ทีมงาน พร้อมญาติผู้เสียชีวิต

 

ต่อมาเป็นการเสวนา “บันทึกข้อมูลเพื่อทวงความยุติธรรม” วิทยากรโดย ศ.กิตติคุณธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, นายรอมฎอน ปินจอร์ องค์กร Deep South Watch ดำเนินการเสวนาโดย รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

ศ.กิตติคุณธงชัย กล่าวว่า จุดประสงค์สำคัญโครงการนี้คือเป็นบันทึกเก็บเอกสารประวัติศาสตร์เท่าที่ทำได้ แล้วคนในอนาคตจะใช้ทำอะไรก็เรื่องของเขา จะเขียนประวัติศาสตร์ 16 ตุลา ก็เรื่องของเขา ต้องให้เอกสารเหตุการณ์เหล่านี้มีชีวิตอยู่ในสังคม เป็นทางเดียวที่จะทำให้ไม่ตาย ผมคิดว่าหกตุลาน่าจะไปไม่รอดในแง่การหาความยุติธรรม แต่สิ่งที่เราทำได้คือต้องเห็นความหวังกับคนในอนาคต สักวันต่อให้เราตายไปแล้วคนต้องหยิบยกขึ้นมา ต้องมีความหวังว่า อนาคตจะเห็นความยุติธรรมได้ในระยะยาว ต่อให้อาจไม่ใช่ความยุติธรรมเฉพาะกรณีหกตุลา ต้องทำให้เห็นว่ายิ้มสยามมีเรื่องอัปลักษณ์อีกเยอะแยะ มีทั้งด้านดี ด้านอัปลักษณ์ สังคมต้องกล้าเผชิญหน้าทุกด้าน ไม่ใช่พูดแต่ด้านดีหรือประณามแต่ด้านร้าย คนในสังคมจึงจะเติบโตแบบมีวุฒิภาวะ

“ระบบโซตัสที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย แต่คือทหารและระบบราชการทั้งหมดคือโซตัส ระบบโซตัสมีไว้เพื่อผลิตคนชนิดหนึ่ง คนๆนั้นต้องขี้ขลาด สังคมไทยเต็มไปด้วยคนขี้ขลาด ไม่ใช่เขาไม่รู้ว่าเกิดเรื่องหกตุลา ไม่ใ่ช่ไม่รู้ว่าความอยุติธรรมร้อยแปดที่เกิดขึ้นมันเกินไป แต่สังคมไทยมีคนที่ขี้ขลาดตาขาวเต็มบ้านเต็มเมือง นี่แหละไทยแลนด์4.0 ไทยแลนด์ของคนขี้ขลาด เห็นความอยุติธรรมแล้วเฉยๆ และคนอีกประเภทคือคนโง่กับคนแกล้งโง่ สังคมไทยเป็นสังคมอับจนปัญญา หลายเรื่องเห็นอยู่ตำตาว่าไร้เหตุผล ก็แกล้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่พูด แย่กว่าคือออกมาสนับสนุนทำสิ่งที่ไร้เดียงสา เป็นเรื่องที่น่าอับอาย สิ่งเหล่านี้จะอยู่ไ้ด้ยังไงถ้าไม่ใช่เพราะประชาชนเอื้ออำนวยให้ความไร้เดียงสาและน่าอับอายนี้ดำรงอยู่

 

“ถ้าสังคมไทยมีวิบากกรรม เราต้องเผชิญหน้ากับสภาวะอย่างนี้และสู้กันไป ไม่มีทางอื่น ถ้าความยุติธรรมหาไม่ได้ในชีวิตผม ก็สู้กันยาวๆ สังคมเติบโต มีวุฒิภาวะ และกล้าหาญกว่านี้ได้ แต่โชคร้ายที่เราเกิดเร็วไปหน่อย บุกเบิกถางทางเพื่อสักวันหนึ่งเราจะฉลาดกว่านี้ได้ เผชิญหน้าและทำเท่าที่ทำได้ เก็บหลักฐานเอกสารคนที่เป็นเหยื่อหกตุลา เป็นเหยื่อของความขี้ขลาดตาขาว เหยื่อของความโง่และแกล้งโง่ที่มีอยู่ดาษดื่นภายใต้ระบบโซตัสของสังคมไทย ขอให้ช่วยกันกระจายข่าว ‘บันทึกหกตุลา’ และยุยงให้คนเก็บหลักฐานข้อมูลเช่นนี้กับกรณีอื่นๆให้มากที่สุด เพราะเราจะตายถ้าอยู่อย่างโดดเดี่ยว” ศ.กิตติคุณธงชัยกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน