ประชาชนชุมนุมไล่’ลูคาเชนโก’อีกครั้ง แม้ใช้ระเบิดแสงสลายฝูงชน มีนักสิทธิฯเสียชีวิต ผู้ชุมนุมถูกจับนับไม่ถ้วน ปราบแรงคนยิ่งลุกฮือ ตำรวจถึงกับทิ้งโล่

Reuters

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 สำนักข่าว อัลจาซีรา รายงานว่า ตำรวจเบลารุสได้จับกุมผู้คนมากกว่า 200 คนในเมืองหลวงมินสค์ ในระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งล่าสุด การประท้วงมีขึ้นตั้งแต่ มีการประกาศผลเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนจำนวนมากเชื่อว่าเป็นการโกงเลือกตั้ง เนื่องจากคะแนนความนิยมของเขาตกต่ำลงมาก

สื่อจำนวนมากของเบลารุสรายงานว่า ประชาชนหลายหมื่นคนได้รวมตัวกันที่ถนนในวันอาทิตย์ (22 พย.63) ที่ผ่านมา โดยตำรวจได้ใช้ระเบิดแสงเพื่อสลายฝูงชน และ กลุ่มสิทธิ ‘Vesna-96’ กล่าวว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวที่ได้รับการยืนยันแล้ว 205 คน และคาดว่าตั้งแต่มีการชุมนุมมา มีการจับกุมตัวผู้คนไปมากกว่า 1 หมื่นคนแล้ว โดยมีภาพถ่ายยืนยันว่า พบผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกพาตัวไปขึ้นรถบัสที่ไม่มีหมายเลขทะเบียน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยของเบลารุสแถลงในเวลาต่อมาว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวนั้น “รบกวนความสงบเรียบร้อยและต่อต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ” แต่กลับไม่ได้บอกจำนวนผู้ถูกจับกุมที่แท้จริง

Reuters

กลุ่มต่อต้านประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ได้จัดให้มีการประท้วงเป็นประจำตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยกล่าวว่าลูคาเชนโก จัดการเลือกตั้งเพื่อขยายการยึดอำนาจ 26 ปีที่ผ่านมาของเขา แต่ลูคาเชนโกปฏิเสธการโกงการเลือกตั้งและปฏิเสธที่จะลาออก

ในเดือนสิงหาคม ผู้ชุมนุมรวมตัวกันครั้งแรก ในย่านเมืองหลวงมินสค์ โดยมีธงขาว-แดง-ขาว และ สายรัดข้อมือสีขาว เพื่อแสดงถึงการชุมนุมอย่างสันติ และเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุม โดยธงขาว-แดง-ขาว นี้ ถูกใช้ครั้งแรกโดยสาธารณรัฐประชาชนเบลารุส ในปี พ.ศ. 2461 แต่ธงชาติเบลารุสในปัจจุบัน เป็นธงสีแดง-เขียว ที่เป็นธงของโซเวียตเบโลรุสเซีย (BSSR) ที่ถูกใช้ในปีพ.ศ. 2494 และกลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐอีกครั้งหลังจากการลงประชามติในปีพ.ศ.2538 ซึ่งริเริ่มการนำกลับมาใช้โดย อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดี ที่ยังหนุ่มในขณะนั้น

Reuters

รัฐบาลพยายามจะขัดขวางการชุมนุม โดยมีการปิดล้อมจัตุรัสขนาดใหญ่ในเมืองหลวงด้วยแท่งกั้นโลหะ พร้อมด้วยกองกำลังรักษาความปลอดภัยหลายร้อยคนและเจ้าหน้าที่กองทัพจำนวนมากได้เข้าควบคุมผู้ประท้วง โดยรถฉีดน้ำแรงดันสูง รถควบคุมตัวนักโทษจำนวนมาก และอุปกรณ์ที่ใช้ในการปราบการชุมนุม ได้ถูกเตรียมพร้อมอยู่ตลอด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ และระงับการใช้สถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุม ทั้งยังกล่าวหาผู้ประท้วงว่าถูกบงการจากประเทศต่างชาติ

Reuters

การเดินขบวนในวันอาทิตย์ (22 พย.63) ที่ผ่านมามีการชูข้อความว่า“ชุมนุมต่อต้านฟาสซิสม์” เนื่องจากผู้ประท้วงเชื่อว่า ลูคาเชนโก เป็นพวกฟาสซิสต์ โดยผู้ชุมนุมให้ความเห็นดังนี้ “ ฉันยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้ ฉันรู้สึกอยากจะอาเจียนเมื่อนึกถึงพวกอำนาจเผด็จการในประเทศและค่านิยมที่พวกเขาปกป้อง ” โอลกา มัทคิทส์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์วัย 22 ปี ผู้ประท้วงกล่าวกับสำนักข่าว AFP “พวกเขาต้องการลากศักดิ์ศรีของเราลงไปเหยียบย่ำ ดังนั้นเพื่อศักดิ์ศรีของฉันและอนาคตของลูกหลาน ฉันจึงออกมาชุมนุม” อเล็กซานเดอร์ อิกนาตอฟ หนึ่งในผู้ชุมนุม วัย 72 ปีกล่าว

Reuters

โดยในวันศุกร์ (20 พย.63) ที่ผ่านมา ผู้คนหลายหมื่นคน ได้รวมตัวกันที่ถนนเพื่อจัดพิธีศพให้ โรมาน บอนดาเรนโค ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลวัย 31 ปี ซึ่งเสียชีวิตในโรงพยาบาลเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากถูกเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงเข้าทำร้ายอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของ บอนดาเรนโค โดยกล่าวว่าเขาถูกทำร้ายจากการวิวาทกับคนอื่นๆ การปราบปรามฝ่ายเห็นต่างของผู้นำเบลารุสทำให้เบลารุสถูกสหภาพยุโรปไม่ให้การสนับสนุน ขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำเผด็จการของรัสเซียได้ประกาศจุดยืนว่านายลูคาเชนโกเป็นผู้นำที่ชอบด้วยกฎหมายและพร้อมให้การสนับสนุน โดยปูตินให้เงินกู้ 4.7 หมื่นล้านบาทแก่เบลารุส

Reuters

Reuters

Svetlana Tikhanovskaya / Sky News

ด้านนาง ซเวทลานา ทีคานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้านเบลารุส ซึ่งถูกเนรเทศและเดินทางออกจากประเทศเบลารุสไปยังลิทัวเนียหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง ยืนกรานว่า ในพื้นที่ที่มีการนับคะแนนการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง เธอได้คะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละ 60 “เราไม่สามารถเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นคุกได้ถ้าไม่มีใครกลัวผู้คุม” เธอกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงแรกของการประท้วง มีผู้เข้าร่วมเพียงหลักพัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุม โดยมีการใช้แก๊สน้ำตาและไม้กระบองเข้าทุบตีผู้ชุมนุม และมีการจับกุมผู้ชุมนุมจำนวนมาก ปรากฏว่าหลังจากมีการใช้ความรุนแรง จำนวนผู้คนที่ลงถนนกลับมากขึ้นเป็นหลักหมื่นและมากกว่าแสนคนในเวลานี้ นับเป็นการชุมนุมครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเบลารุส โดยจากการปราบปรามที่รุนแรงทำให้กลุ่มผู้เคยสนับสนุนประธานาธิบดีลูคาเชนโก ‘ตาสว่าง’ ผู้ใช้แรงงานและข้าราชการซึ่งเป็นฐานเสียงของระบอบเผด็จการ ต่างเข้าร่วมกับผู้ชุมนุม แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมฝูงชนในเมืองหนึ่ง ได้ทิ้งโล่กระบอง และประกาศเพิกเฉยต่อคำสั่งที่ให้สลายการชุมนุม

Q News

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน